SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 2 - 6 พ.ย. 2563

2 พฤศจิกายน 2563

“จับตาผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก เนื่องจากนักลงทุนกังวลถึงความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยผลการเลือกตั้งอาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อแนวโน้มการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าในอาทิตย์หน้าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไรและมีความเป็นได้มากน้อยแค่ไหนกับการอนุมัติออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยอดผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในระลอกที่สองทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปโดยเฉพาะสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะนี้

ดัชนี Composite PMI ของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ยุโรปปรับตัวลดลงเข้าสู่เกณฑ์หดตัวอีกครั้ง โดยดัชนีรวมเดือน ต.ค. ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 จุด เป็นระดับ 55.5 จุด จากภาคบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.4 จุด เป็น 56.0 จุด ขณะเดียวกันดัชนีรวมของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.1 จุด เป็นระดับที่ 46.7 จุด ขณะที่ยุโรปการกลับมาใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดในหลายพื้นที่เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เร่งตัวขึ้นนับเป็นปัจจัยที่กดดันภาคบริการ ทำให้ดัชนีรวมของยูโรโซนปรับตัวลดลงถึง
-1.0 จุด สู่ระดับที่ 49.4 จุด

ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมพร้อมทั้งยังส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการเงินต่อไป  โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายคงดอกเบี้ยที่ระดับเดิมและยังคงการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE พิเศษ (PEPP) ที่วงเงิน 1.350 ล้านล้านยูโร โดยระบุจะเข้าซื้อจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2021 เป็นอย่างน้อยหรือจนกว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลาย ขณะเดียวกันธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบื้อไว้ที่ -0.1% และคงวงเงินการเข้าซื้อ ETFs และ REITs ต่อปีที่ 12 ล้านล้านเยนและ1.8 แสนล้านเยนตามลำดับ

ตัวเลขการส่งออกของไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 และมาตรการ Lockdown อย่างไรก็ตามตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ก.ย. ล่าสุดอยู่ที่ระดับ
-3.9% YoY ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่แล้วซึ่งอยู่ที่ระดับ -7.9%YoY โดยสินค้าที่ส่งออกได้ดีคือ ผลิตภัณฑ์ยางสินค้านำโดยถุงมือยาง อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ยอดค้าปลีกเดือน ก.ย. ของ ญี่ปุ่นพลิกกลับมาหดตัว โดยยอดค้าปลีกหดตัวเพิ่มขึ้นแรง -8.7% YoY แย่ลงจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ -1.9%YoY ซึ่งอาจเป็นผลจากฐานที่สูงจากผลของการเร่งใช้จ่ายในช่วงก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษี VAT ในเดือน ต.ค. 2019

กลยุทธ์การลงทุน

“ทยอยซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์เซ็ท อินเด็กซ์ ฟันด์ (SCBSET)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ตราสารหนี้ US Short Duration High Income (SCBUSHYA)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เครดิต ออพพอทูนิตี้ (SCBOPPA)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHA)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นเกาหลี (SCBKEQTG)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นอินเดีย (SCBINDIA)