อัพเดทสถานการณ์การลงทุน : รายงานพิเศษเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ตะวันออกกลางของ SCBAM กับมุมมองสถานการณ์สงครามราคาน้ำมัน

18 มีนาคม 2563

       การลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินฝากธนาคารต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ทาง SCBAM มีการลงทุนในขณะนี้ หลัก ๆ อยู่ในสองประเทศ คือกาตาร์ (Qatar) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ค่อนข้างสูง คือกาตาร์อยู่ที่ระดับ AA- (อยู่ในระดับนี้ตั้งแต่ปลายปี 2017) และ UAE อยู่ที่ระดับ AA (คงที่ระดับนี้มาตั้งแต่ปี 2007) ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าประเทศไทย (BBB+) โดยทั้งสองประเทศดังกล่าวมีความแข็งแกร่งทั้งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง อีกทั้งมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ซึ่งเพียงพอในการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมากกว่า 7 เท่า โดยสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของ กาตาร์อยู่ที่ราว 48% ส่วน UAE อยู่ที่ราว 19% ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 60 ที่เป็นระดับเพดานอ้างอิงที่ยอมรับได้ของกรอบความยั่งยืนทางการคลังในหลายประเทศ

       นอกจากนี้ทาง SCBAM ยังคัดเลือกเฉพาะเจาะจงลงทุนไปในตราสารหนี้หรือเงินฝากของธนาคารที่มีความมั่นคงสูงเท่านั้น เช่นมีขนาดสินทรัพย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และ/หรือมีรัฐถือหุ้นอยู่  ซึ่งการเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่หรือมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศ ทำให้มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือจากรัฐด้วยหากมีความจำเป็น ทั้งนี้ แม้บางธนาคารจะไม่ได้มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้น อย่างเช่น Mashreq Bank ที่ถือหุ้นโดยตระกูล Al Ghurair ที่ได้รับการจัดอันดับความมั่งคั่งติดอันดับ 1 ใน 500 ของโลก โดย Forbes และธนาคารนั้นมีสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 ใน UAE โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1967 ทำให้ถึงแม้ไม่ได้ถือหุ้นโดยรัฐ แต่ในยามจำเป็นอย่างช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (2009) ก็เคยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลในการอัดฉีดสภาพคล่อง และสามารถชำระหนี้คืนได้ครบก่อนกำหนดถึง 4 ปี แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของธนาคารดังกล่าวต่อประเทศ และความพร้อมช่วยเหลือจากรัฐฯในยามจำเป็น

       สำหรับเศรษฐกิจของ UAE นั้นได้มีการปรับโครงสร้างให้มีการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ ให้ไม่ได้พึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลักอย่างเดียว โดยนับแต่ปี 2015 มีการปรับรายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลือร้อยละ 26 และกระจายไปพึ่งพาภาคการก่อสร้างร้อยละ 18 และภาคการค้าร้อยละ 11 ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ แม้แต่ช่วงราคาน้ำมันตกต่ำในปี 2015-2016 (หลุดระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลงไปเหลือไม่ถึง 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังคงเกินดุล ที่ระดับร้อยละ 3 – 5  ของ GDP ทั้งนี้ ล่าสุดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูงมาก ถึงร้อยละ 9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปีที่แล้ว

       นอกจากนั้น ยังมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ที่มีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ คิดเป็นเกือบ 5 เท่าของภาระหนี้ต่างประเทศ

       

       ส่วนประเทศกาตาร์ เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของโลกโดยมีการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีการส่งออก LNG ประมาณ 60% ของการส่งออกทั้งหมดซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของตลาดโลก ทำให้ถึงแม้จะถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และอียิปต์ เมื่อกลางปี 2017 จนเกิดเงินไหลออกจนรัฐต้องเข้าแทรกแซง (ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเล็กน้อย) แต่ประเทศก็ยังอยู่ได้ เพราะสัดส่วนประเทศที่คว่ำบาตรดังกล่าวคิดเป็นเพียงร้อยละ 6 ของการส่งออกเท่านั้น ส่วนคู่ค้าหลักในการส่งออก LNG อย่าง ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ยังคงมีความต้องการ LNG อย่างต่อเนื่อง ผลคือทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าก่อนถูกคว่ำบาตร มาอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของประเทศ

       ทั้งนี้ ในปี 2016 ที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวลดต่ำลงรุนแรงจาก 10 ดอลลาร์สหรัฐ สู่ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ได้ส่งผลให้มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขยับขึ้นมาที่ -6% ของ GDP ซึ่งนับเป็นการขาดดุลครั้งแรกนับแต่ปี 1999 แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และกลับมาเกินดุลในปีต่อมา ทั้งนี้โดยเฉลี่ยกาตาร์จะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ค่อนข้างสูง อยู่ที่ร้อยละ 6-9 ของ GDP ในแต่ละปี ประกอบกับกาตาร์มีสินทรัพย์ในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศคิดเป็นเกือบ 2 เท่าของภาระหนี้ต่างประเทศทั้งหมด จึงไม่น่ามีปัญหาในการชำระหนี้คืนในระดับประเทศ

       สำหรับประเด็นของราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงมาก ณ ปัจจุบันมาอยู่ที่ 34 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนั้น เราคาดว่าสุดท้ายจะนำไปสู่การเจรจาของกลุ่ม OPEC+ อีกครั้ง เพราะที่ระดับราคาน้ำมันในปัจจุบันไม่มีใครได้ประโยชน์ และไม่น่ามีใครสามารถอยู่ได้นาน ดังนั้นทางออกน่าจะคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 – 2016   ซึ่งในครั้งนั้นราคาน้ำมันลดต่ำกว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเป็นระยะเวลาเพียง 3-4 เดือนก็เกิดการเจรจา และภายใน 7 เดือน (นับตั้งแต่ราคาหลุด 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ราคาน้ำมันก็ดีดกลับมาเกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้

       สำหรับผลกระทบต่อกาตาร์ และ UAE ตลอดจนธนาคารที่ SCBAM เลือกลงทุนนั้น เรามองว่าในครั้งนี้ ทั้งสองประเทศมี Buffer ที่จะรองรับผลกระทบดังกล่าวได้ค่อนข้างนาน จากทรัพย์สินต่างประเทศสุทธิ (Sovereign Net Foreign Assets) เกินกว่าเท่าตัวของ GDP และมีการพึ่งพารายได้จาก Hydrocarbon (เช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ไม่มากจนน่ากังวล โดยมูลค่าการส่งออก Hydrocarbon สุทธิต่อ GDP ของกาตาร์ และ UAE ในปี 2019 อยู่ที่ร้อยละ 32 และ 18 ตามลำดับ

       โดยสรุป เราจึงมองว่าการลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากในธนาคารชั้นนำของประเทศกาตาร์และ UAE ยังคงมีความปลอดภัยในระดับที่สูง มีผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล ส่วนเหตุการณ์สงครามราคาน้ำมันที่กำลังเกิดขึ้นไม่น่าจะยืดเยื้อจนทำให้เกิดปัญหา และความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้เมื่อเทียบกับความมั่นคงทางการเงินของประเทศและภาคธนาคาร ทั้งนี้ ทาง SCBAM ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไปหากมีการเปลี่ยนแปลง