Fund Finder ตอน China Reopening หุ้นจีนวิ่งต่อหรือพอแค่นี้ ??

19 มกราคม 2566

         ตลาดหุ้นจีนตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยกดดันเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอก ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนทั้ง 3 ดัชนีหลัก ปรับตัวลงมาแรงกว่าค่าเฉลี่ยของการปรับฐานใหญ่ในอดีตที่ผ่านมา แต่แล้วช่วงปลายปี 2022 ก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อจีน กลับทิศนโยบายหลักแบบ 180 องศา เช่น นโยบาย “Zero Covid Policy” เป็น “Live with Covid”, ผ่อนคลายนโยบายควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์และผ่อนคลายนโยบายจัดระเบียบหลายอุตสาหกรรมตามแนวทาง Common Prosperity การปรับเปลี่ยนทิศทางดังกล่าว ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นจีนกลับมาฟื้นตัวโดดเด่นอีกครั้ง และทำให้เรากลับมามีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนหุ้นจีนมากขึ้นโดยเฉพาะ A-shares จากปัจจัยสนับสนุนเชิงสถิติ/ฤดูกาลและเชิงปัจจัยพื้นฐาน โดยมีกองทุนแนะนำ คือ กองทุน SCBASHARES(A) ที่สามารถเลือกหุ้นชนะดัชนีอ้างอิงระยะยาว หรือกองทุน SCBCHAA สำหรับนักลงทุนที่ต้องการได้ผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนี CSI300

Fund Finder

ปัจจัยลบรุมเร้าตลาดหุ้นจีนตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

          ตลาดหุ้นจีนได้เผชิญมรสุมถาโถมเข้ามากดดันอย่างต่อเนื่องทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกตลอดช่วง 2 ปีหลังสุด (2021-2022) โดยในปี 2021 ภาครัฐเริ่มเข้ามาควบคุมหลายธุรกิจที่เชื่อว่า เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาสังคม เช่น ธุรกิจกวดวิชาและธุรกิจเกมส์ รวมถึง อุตสาหกรรมที่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างบริษัทขนาดใหญ่กับบริษัทขนาดเล็กเช่น ธุรกิจ E-commerce, Platform ต่าง ๆ นอกจากนี้ ภาครัฐ เพิ่มความเข้มงวดในภาคอสังหาริมทรัพย์ คล้ายกับการเจาะฟองสบู่ให้แตกก่อนที่จะขยายตัวเป็นฟองสบู่ลูกใหญ่กว่านี้ โดยทางปธน.สีจิ้นผิง มีนโยบายต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ชัดเจนว่า “บ้านมีไว้เพื่ออยู่อาศัย ไม่ใช่เก็งกำไร” การจัดระเบียบปัดกวาดในหลายอุตสาหกรรม ได้สร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะกลุ่ม Offshore และยังไม่จบเพียงเท่านี้ เข้าสู่ปี 2022 รัฐบาลจีนก็ได้ดำเนินนโยบาย Zero Covid Policy อย่างเข้มงวด ส่งผลให้ต้องมีการ Lockdown หลายเมืองสำคัญ แทบจะตลอดทั้งปี เป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะกลุ่ม Onshore ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Fig.1)

ตลาดหุ้นจีนลงหนักแค่ไหนเมื่อเทียบวิกฤติในอดีต ?

          จากปัจจัยรุมเร้าที่ได้กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้หุ้นจีนทั้ง 3 ดัชนีหลัก MSCI China, HSCEI, CSI300 ปรับตัวลงมาจากจุดสูงสุดถึง -63%, -60% และ -40% ตามลำดับ (Fig.2) ซึ่งถือว่าใกล้เคียง (สำหรับ CSI300) หรือลึกกว่า (สำหรับ MSCI China และ HSCEI) ค่าเฉลี่ยขาลงของตลาดหมีในอดีตแล้ว นอกจากนี้ การปรับฐานรอบปัจจุบัน ใช้เวลาปรับตัวลงจากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุดกว่า 20 เดือน ซึ่งยาวนานกว่าค่าเฉลี่ยขาลงในอดีตที่กินระยะเวลาประมาณ 8-16 เดือนอยู่มากพอสมควร (Fig.3) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า รอบปัจจุบันตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงมาลึกและนานมากพอสมควรแล้วเมื่อเทียบกับในอดีต

Fund Finder

จุดเปลี่ยนสำคัญ: เมื่อจีนกลับทิศ พลิกสู่การเปิดเมืองเร็วกว่าคาด

          หลังต้องเผชิญมรสุมตลอด 2 ปี ในที่สุดฟ้าก็เริ่มเปิดให้ตลาดหุ้นจีนอีกครั้ง! หลังประชาชนจีนเริ่มทนไม่ไหวต่อนโยบายควบคุมโควิดที่เข้มงวด จนนำไปสู่การประท้วงขึ้นในหลายเมืองใหญ่ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายสิบปีหลังสุด ประกอบกับการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เสร็จสิ้นไปด้วยดี และในที่สุด เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2022 ทางการจีนได้ประกาศปรับแผนครั้งใหญ่จากนโยบาย “Zero Covid Policy” มาสู่การปรับตัวและอยู่ร่วมกับโควิด “Live with Covid” โดยมีการประกาศยกเลิกมาตรการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2023 เป็นต้นไป และเตรียมอนุญาตให้ชาวจีนเริ่มเดินทางออกนอกประเทศ หลังปิดประเทศมานานกว่า 3 ปี ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนนโยบายแบบกลับทิศ 180 องศา ต่างจากมุมมองของนักวิเคราะห์หลายสำนักที่คาดว่า จะเปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปก่อนที่จะเปิดเต็มรูปแบบในช่วง 2Q23 การเปิดเมือง/ประเทศที่เร็วกว่าคาดได้สร้าง Sentiment บวกหนุนดัชนีหุ้นจีนฟื้นตัวแรงโดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน Offshore ที่ลงมาลึกกว่า Onshore (Fig.4)

          อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน น่าจะมีลักษณะ J-shape (กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงก่อนระยะสั้นก่อนที่จะฟื้นตัวดีในระยะถัดไป) มากกว่า   V-shape (กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวแรงได้ทันทีหลังเปิดเมือง) คล้ายกับหลายประเทศที่ช่วงแรกของการเปิดเมือง อาจมีกลุ่มคนที่ยังไม่มั่นใจและไม่กล้าออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ประกอบกับ การระบาดที่เร่งตัวสูงขึ้นหลังเปิดเมือง จะส่งผลให้คนป่วยไม่สามารถทำงานได้และจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น อาจสร้างความกลัวแก่คนบางกลุ่มในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า กำลังซื้อของชาวจีนนั้นไม่ได้น่าเป็นห่วง เพราะเงินเก็บส่วนเพิ่ม (Excess Savings) ของคนจีนในปีที่ผ่านมา มีสูงถึงกว่า 6 ล้านล้านหยวน จากการที่คนจีนถูกกักตัวอยู่กับบ้านและการชะลอการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทำให้คนจีนมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นและพร้อมกลับมาบริโภคสินค้าและบริการ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

แรงหนุนเพิ่มเติม Policy U-turn ใน Property และการคุมเข้ม Big Tech

          ภาคอสังหาริมทรัพย์: การออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 33 มาตรการ ผ่านมาตรการทางภาษี, การออกพันธบัตรเพื่อการลงทุน และเร่งการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ มีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ ในภาคอสังหาฯ ผ่าน 16 มาตรการ โดยมีประเด็นสำคัญ คือ สนับสนุนการเข้าถึงสภาพคล่องของบริษัทอสังหาฯ, การผ่อนผันการชำระหนี้, ผ่อนคลายข้อจำกัดการปล่อยสินเชื่อ, กำหนดดอกเบี้ยสินเชื่อที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ของผู้ซื้อบ้าน

          สัญญาณผ่อนคลายเกณฑ์คุมเข้มกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่:  สัญญาณการผ่อนคลายอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อจัดระเบียบแก้ปัญหาสังคมในจีนระยะยาว เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การผ่อนคลายการออกใบอนุญาตเกมส์ใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศและล่าสุดที่ทางการจีนกลับมาอนุญาตให้ Ant Group บริษัทในเครือ Alibaba สามารถระดมทุนเพิ่มได้อีกครั้ง หลังจากภาครัฐระงับการระดมทุนในตลาดหุ้นของบริษัทดังกล่าวอย่างกะทันหันในช่วงปลายปี 2020 และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาคุมเข้มกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนตามนโยบายการเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน  (Common Prosperity) ดังนั้น การที่ทางการจีนกลับมาไฟเขียวต่อการระดมทุนของ Ant Group หลังปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับที่ภาครัฐต้องการ นักลงทุนมองเป็นสัญญาณที่ดีว่า จีนผ่อนคลายการจัดระเบียบไปแล้วและอาจจะไม่เห็นการกลับมาควบคุมรุนแรงอีกอย่างน้อยก็ในปีนี้

Fund Finder

ไปต่อหรือพอแค่นี้ ??

          เหมือนฟ้าเปิดอีกครั้ง ตลาดหุ้นจีน ฟื้นตัวค่อนข้างเร็วและแรง (Fig.4) ทำให้นักลงทุนเริ่มมีคำถามว่า ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นมาสูงเกินไปแล้วหรือไม่ หุ้นจีนมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อหรือพอแค่นี้ ?  คำตอบของเรา คือ เรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนหุ้นจีน โดยเชื่อว่า การฟื้นตัวเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นและยังไม่สายเกินไปสำหรับนักลงทุนจะเข้าทยอยสะสมลงทุนหุ้นจีนเพิ่มเติมเพื่อคาดหวังผลตอบแทนระยะกลาง-ยาว โดยเรามองเห็นปัจจัยสนับสนุนทั้งในเชิงสถิติและเชิงปัจจัยพื้นฐานดังต่อไปนี้

          • ปัจจัยสนับสนุนเชิงสถิติและฤดูกาล: หากเราพิจารณาตลาดหุ้นจีนที่อยู่ในสภาวะตลาดหมี (ปรับตัวลงมากกว่า -20%) ในอดีต เมื่อตลาดหุ้นพบจุดต่ำสุดไปแล้วตลาดมักจะสามารถฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องในระยะ 3-12 เดือนข้างหน้า (Fig.6) นอกจากนี้ สถิติยังบ่งชี้อีกด้วยว่าถึงเราจะลงทุนในตลาดหุ้นจีนหลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว 3 เดือนก็ยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า (Fig.7) สำหรับรอบปัจจุบัน (2021-2023) เรามองว่าตลาดหุ้นจีนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในสิ้นเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือนพอดี ดังนั้นเรายังมองว่าตลาดหุ้นจีนแม้จะปรับตัวขึ้นมาเร็วและแรงโดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน Offshore อาจทำให้มีความผันผวนสูงขึ้นได้ระยะสั้น แต่ถือว่ายังไม่สายเกินไปที่จะลงทุนช่วงนี้เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะกลาง-ยาว นอกจากนี้ สถิติเชิงฤดูกาลช่วงเทศกาลตรุษจีนพบว่าตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะดัชนีหุ้นจีน A-shares มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ดีทั้งก่อนและหลังวันตรุษจีน โดยเฉพาะหากลงทุนในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนตรุษจีน (Fig.8)

          • ปัจจัยสนับสนุนเชิงพื้นฐาน: เมื่อพิจารณาระดับมูลค่าตลาดหุ้นจีนผ่าน P/E พบว่าดัชนีหุ้นจีนทั้ง 3 ดัชนี ไม่ได้อยู่ในโซนที่แพงจนเกินไป โดยดัชนี MSCI China และ CSI300 มีค่า P/E อยู่ระดับต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย (Fig.9) โดยปกติ เมื่อตลาดหุ้นอยู่ในระยะฟื้นตัว (Recovery phase) ระดับมูลค่ามักจะปรับเพิ่มสูงขึ้นเร็วในช่วงแรก (P/E Re-rating) ก่อนที่กำไรจะกลับมาฟื้นตัวตามมาในระยะถัดไป ซึ่งจะทำให้ระดับมูลค่าปรับลดลงกลับมาอยู่ในระดับเหมาะสมในที่สุด ดังนั้น หากช่วงนี้เราเริ่มเห็นระดับมูลค่าของตลาดหุ้นจีนดูสูงขึ้นเร็วก็อย่าเพิ่งกังวลมากจนเกินไปนัก ขณะที่แนวโน้มคาดการณ์กำไรของตลาดหุ้นจีนเริ่มกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะดัชนี MSCI China และ HSCEI เริ่มพลิกจากกำไรถูกปรับลงตลอดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเป็นเริ่มถูกปรับกำไรขึ้นอีกครั้งช่วงปลายปี (Fig.10)

Fund Finder

กองทุนแนะนำ: SCBASHARES(A) และ SCBCHAA

          เรามีมุมมองเชิงบวกต่อกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ (A-shares) และเน้นหุ้นกลุ่มบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากในระยะกลาง-ยาว ยังได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากนโยบายภาครัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นจีน Offshore ยังมีความเสี่ยงต่อนโยบายภาครัฐอย่าง Common Prosperity ที่อาจกลับมาเข้มงวดอีกในอนาคต หากเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น แต่เราประเมินว่า ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นจีน Offshore น่าจะยังรักษาโมเมนตัมเชิงบวกได้ต่อ หากแรงกดดันสำคัญอย่างการจัดระเบียบจากภายในและสงครามเทคโนโลยีจากภายนอกไม่มีพัฒนาการเชิงลบไปมากกว่าปัจจุบัน

          • SCBASHARES (A):  กองทุน Feeder Fund ที่มีกองทุนหลัก (Master Fund) คือ Schroder International Selection Fund China A  ซึ่งถือว่าเป็น Active Fund ที่สามารถคัดเลือกหุ้นเอาชนะดัชนีอ้างอิงได้ดีในระยะกลาง-ยาว ด้วยทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ลงทุนยาวนานมากกว่า 10 ปี มีนโยบายการลงทุนแบบวิเคราะห์รายบริษัท (Bottom up approach) โดยเน้นบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กที่มีคุณภาพและมีศักยภาพการเติบโตสูง สามารถทนทานต่อปัจจัยมหภาคได้ดี สำหรับธีมการลงทุนปัจจุบัน กองทุนหลักให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่ม EV/Smart Car, กลุ่ม Healthcare, กลุ่ม Industrials ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต, กลุ่ม Materials โดยเฉพาะกลุ่มแร่ Copper และ Nickel ที่มีความต้องการใช้อีกมหาศาลจากการเปลี่ยนผ่านเป็นพลังงานสะอาด, กลุ่ม Digital Economy เช่นกลุ่ม 5G และ Software ที่ได้ประโยชน์จาก Cloud รวมถึงกลุ่ม Technology บางกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้พัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ลดการพึ่งพาจากต่างชาติ หลังเกิดสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ เป็นต้น กล่าวโดยสรุป กองทุน SCBASHARES เหมาะกับนักลงทุนที่เชื่อมั่นในปรัชญาการลงทุนของทีมผู้จัดการกองทุน โดยคาดหวังผลตอบแทนส่วนเพิ่มมากกว่าดัชนีชี้วัด

          • SCBCHAA: กองทุน Passive Fund ที่ไปอ้างอิงกับดัชนี CSI300 ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยหุ้นจีน A-Share จำนวน 300 ตัวเรียงตามมูลค่าตลาด (Market Cap.) และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น ดัชนี CSI 300 ประกอบไปด้วยบริษัทขนาดใหญ่ เป็นที่รู้จักดีภายในประเทศ โดยหุ้นในดัชนีค่อนข้างมีการกระจายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมที่อิงการบริโภคภายในประเทศ โดยมีทั้งกลุ่ม Old Economy และ New Economy สามารถสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจจีนได้ค่อนข้างดี กล่าวโดยสรุป กองทุน SCBCHAA เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสอดคล้องไปกับดัชนี CSI300 และมีค่าธรรมเนียมซื้อขายต่ำกว่ากองทุน Active Fund

Fund Finder

          ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และขอรับหนังสือชี้ชวน ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 02-777-7777 กด 0 กด 6 www.scbam.com