คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : คนรุ่นใหม่ ใส่ใจ…รักษ์โลกกับการลงทุน ESG Bond ที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต

29 มิถุนายน 2566

         หนึ่งในปัญหาสำคัญของโลกที่ยังคงทวีความรุนแรงอยู่ในทุกวันนี้ คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกจนกลายเป็นภาวะโลกร้อน โดยในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาและเร่งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา ‘เทรนด์รักษ์โลก’ จึงเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกที่ตระหนักถึงปัญหานี้ ซึ่งแน่นอนว่าการการจะมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น อาจต้องใช้เม็ดเงินมูลค่ามหาศาล รวมถึงอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล เอกชน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป ดังนั้น หนึ่งในแหล่งระดมทุนที่หน่วยงาน/องค์กรต่างๆให้ความสนใจ คือ การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ ด้วยการออก ‘ESG Bond’  จึงมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ว่าแต่..ESG Bond คืออะไร?

         ESG Bond (Environmental, Social and Governance Bond) หรือ ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน ซึ่งก็คือตราสารหนี้ที่เหมือนกันกับตราสารหนี้ทั่วไป แต่มีข้อแตกต่างด้านวัตถุประสงค์ในการใช้เงินระดมทุนที่จะนำไปใช้ลงทุน ดำเนินธุรกิจ หรือจัดทำโครงการที่ตอบโจทย์ด้านการอนุรักษ์ และ/หรือพัฒนาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ โดยปัจจุบัน ESG Bond นี้ จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก คือ

  1. ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green bond) หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารจะมีการนำเงินระดมทุนไปลงทุนหรือชำระคืนหนี้สินเดิม (Re-financing) ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการใช้พลังงานทางเลือก การขนส่งโดยใช้พลังงานสะอาด การสร้างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม โครงการฟื้นฟูป่า-ทะเล หรือ การเกษตรที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  2. ตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social bond) หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารจะมีการนำเงินระดมทุนไปใช้พัฒนาสังคม เช่น โครงการช่วยลดปัญหาการว่างงาน โครงการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม การเข้าถึงสาธารณูปโภค การศึกษา เป็นต้น
  3. ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) ซึ่งคือส่วนผสมระหว่าง Green bond และ Social bond ที่มุ่งหวังทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมควบคู่กันไป
  4. ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond (SLB)) เป็น ESG Bond น้องใหม่ ที่มีการกำหนดเงื่อนไขในการให้ผลตอบแทนโดยจะขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดและเป้าหมายโดยรวมของหน่วยงาน/องค์กรในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตัวอย่างเช่น บริษัท Enel ผู้ผลิตพลังงานจากอิตาลี ซึ่งเป็นผู้ออก SLB รายแรกของโลก
    ในปี 2019 ที่ได้รับการตอบรับจากตลาดดีเกินคาด จากการมียอดจองมากกว่ามูลค่า SLB ที่ Enel ออกเกือบ 3 เท่า โดย Enel ตั้งเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่น้อยกว่า 55% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2021 จากที่มีอยู่ 46% ในปี 2019 หากทำไม่ได้ตามเป้าบริษัทจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้นักลงทุนอีก 0.25% โดยเงินทุนที่ระดมได้ Enel จะนำไปใช้ในโครงการใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

         ESG Bond ในมุมของผู้ออกตราสาร นอกจากจะได้รับเงินจากการระดมทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการออกตราสารหนี้ปกติแล้ว ยังเป็นการช่วยยกระดับภาพลักษณ์องค์กร ด้วยเป้าหมายการบริหารองค์กรที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน อีกทั้ง ยังช่วยกระจายฐานนักลงทุนไปสู่กลุ่มใหม่ๆ (Diversification) เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อองค์กรที่เป็นผู้ออกตราสารได้ในระยะยาว”

 

การเติบโต ESG Bond ในประเทศไทย

         ตั้งแต่มีการประกาศหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2019 การออก ESG Bond มีการเติบโตอย่างชัดเจนจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ทำให้มูลค่าการออก ESG bond มีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี จากยอดการออกเฉพาะส่วนที่เป็นสกุลเงินบาทที่ 24,200 ล้านบาทในปี 2019 ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 566,051 ล้านบาท ในปี 2023 คิดเป็นอัตราการขยายตัวกว่า 23 เท่าตัว โดยตราสารที่ออกนั้น ก็มีทั้งที่ออกและจดทะเบียนเป็นสกุลเงินบาทและส่วนที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ เช่น สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และสกุลเงินเยน

 


         จากอัตราการเติบโตนี้ เห็นได้ว่า ESG Bond ของไทยได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่และรายย่อย เป็นอย่างดี อีกทั้ง ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแล อย่างเช่น สำนักงาน ก.ล.ต. ที่เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการเสนอขายตราสาร ที่มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขออนุญาตและค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารในช่วงแรกไปจนถึงถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 ตลอดจน การผลักดันเรื่องของความโปร่งใส ให้มีผู้ตรวจสอบ (Reviewer) ที่เป็นสัญชาติไทย (Local Firm) ตรวจสอบว่าตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ที่ออกเสนอขายนี้เป็น ESG Bond หรือไม่ พร้อมทั้งส่งเสริมให้กองทุนต่างๆ มาลงทุนใน ESG Bond มากขึ้น รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่เป็นคนรุ่นใหม่อย่าง GenY และ GenZ ที่ให้ความสำคัญกับการได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้สังคมเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น

         ส่วนประโยชน์ที่ผู้ลงทุน ESG Bonds จะได้รับ นอกจากจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลทั่วไปแล้ว ยังได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมจากเงินลงทุนนี้อีกด้วย โดยในการเลือกลงทุนนั้น นักลงทุนควรพิจารณา ตรวจสอบอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของหุ้นกู้ ผลตอบแทน ระยะเวลาในการลงทุน และประเภทของหุ้นกู้ว่าเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือไม่ มีหลักประกัน หรือมีสิทธิแฝงหรือไม่ เหมือนการพิจารณาการลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไปก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ESG Bond ไม่ได้มีเสนอขายบ่อยๆ ระหว่างที่ยังไม่มีการเสนอขาย ผู้ลงทุนที่รักษ์โลกก็อาจเลือกเข้าลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไปของบริษัทที่ให้ความสำคัญเรื่อง ESG ได้ โดยดูจากคะแนน CG Score ของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ที่สูงอยู่ในระดับ 5 ในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. เป็นอีกทางเลือกได้เช่นกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ร่วมกัน

 

โดย คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส 
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด