คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : เลือกกองทุนดีๆ อย่างไร ให้ปลอดภัยจากเทคนิคโฆษณายุคใหม่

28 ตุลาคม 2559

          ในปัจจุบันโลกของข้อมูลและอิทธิพลของโฆษณาทางการตลาดเริ่มลดลง เพราะผู้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงและเปรียบเทียบข้อมูลผ่านทาง Social ได้ง่ายและสะดวกขึ้น ใครต้องการรู้อะไรก็ถามอากู๋ google มีเว็ปไซต์หรือแอพพลิเคชั่นเปรียบเทียบให้ข้อมูลเต็มไปหมด แถมบางผลิตภัณฑ์มีทั้งรีวิวประสบการณ์จากผู้ใช้จริงประกอบอีกด้วย

          "แต่จริงๆ แล้ว ผู้คนส่วนมากที่ไม่ได้คิดไตร่ตรองมากนัก มักโดนเทคนิคของการจัดเรียงข้อมูลหรือการโฆษณาสมัยใหม่มาทำให้เชื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ดี ซึ่งอาจจะเกิดจริงไปในบางครั้ง"

          อาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งผมได้ไปเรียนหลักสูตรผู้บริหารที่มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ท่านบอกผมมาว่า ดูได้จากตัวอย่างการจัดเรียงอันดับมหาวิทยาลัยโดยนิตยสารต่างๆ ว่าที่ใดได้ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ถ้าใครไม่ติดหนึ่งในสิบอันดับแรกก็อาจจะดูด้อยค่าไป ท่านบอกว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งที่อาจไม่ติดหนึ่งในสิบนั้นก็ดีมากๆ ให้ลองไปดูหัวข้อการให้คะแนนและคะแนนดิบ แล้วจะเห็นว่าคะแนนนั้นต่างกันเพียงจุดทศนิยม คือแพ้ชนะกันนิดเดียว แต่พอมาเรียงอันดับที่ 1 กับที่ 11 ทำให้ดูต่างกันมาก

          ผมเลยอยากจะเอาเรื่องนี้มาเรียบเรียงประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์เลือกกองทุนก็เช่นกัน วันก่อนมีคนรู้จักส่งผลการดำเนินงานกองทุนประหยัดภาษี 10 อันดับแรกมาให้ แล้วบอกว่ากองทุนหนึ่งของเราอยู่ท้ายตารางเป็นอันดับที่ 9 ผมก็เลยมาดูในรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งหมด 53 กองทุน

          "พบว่ารูปตารางที่ส่งต่อกันมามีเพียงแค่ 10 อันดับแรกโดยใช้ผลตอบแทนย้อนหลังหนึ่งปี จึงทำให้เห็นว่าเรามีผลการดำเนินงานเกือบรั้งท้าย และยิ่งไปกว่านั้นพอเข้าไปดูละเอียดมากขึ้นก็บพบว่าอันดับที่ 4 ถึง 13 นั้นผลตอบแทนต่างกันเพียงจุดทศนิยม หรือต่างกันไม่ถึง 1%"

          หากไล่ย้อนเข้าไปดูรายเดือนก็จะพบว่าอันดับนั้นสลับกันไปมาขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าไปเช็คดูข้อมูลเดือนไหน แถมกองทุนที่ผลงานดีที่สุดของปีนี้ 3 กองทุนแรกกลับเป็นกองทุนที่ได้ rating แค่ 2 ดาวทั้งสามกอง และกองทุนที่ได้ rating 5 ดาวบางกองทุนก็ไม่ติดสิบอันดับแรกของปีนี้ด้วยซ้ำ

          ทีนี้เริ่มยากแล้วซิ แล้วเราจะใช้เกณฑ์อะไรมาช่วยเลือกองทุนดี ผมจึงขออนุญาตแบ่งปันวิธีที่ผู้จัดการกองทุนใช้ในการเลือกกองทุนในต่างประเทศเวลาเราออกกองประเภท feeder fund แน่นอนครับเราให้น้ำหนักกับผลตอบแทนในอดีตเป็นหลักในการคัดกรองเบื้องต้น เราจะดูผลตอบแทนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงความสม่ำเสมอ และความสามารถในการบริหารเวลาที่ตลาดลงในปีที่ไม่ดี โดยเราจะให้น้ำหนักความสม่ำเสมอมากกว่าผลตอบแทนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพราะเราเห็นจากประสบการณ์ว่าที่หนึ่งของแต่ละช่วงเวลาก็มักจะผลัดเปลี่ยนกันไปมา บางกองทุนดีมากเมื่อสามปีก่อนแต่สองปีหลังนี่สู้ไม่ได้แล้ว นอกจากนั้นเรายังนำผลตอบแทนนั้นมาเทียบกับความผันผวนของกองทุนด้วย จากตรงนี้เราก็คัดสรรให้เหลือสัก 4-5กองทุนเพื่อไปเลือกในขั้นต่อๆ ไป

          ถัดจากผลตอบแทน เราก็มาดูประวัติ ชื่อเสียงของบริษัท และทีมผู้บริหาร รวมถึงผู้จัดการกองทุนว่ามีการเปลี่ยนบ่อยหรือลาออกกันมากหรือไม่ วิธีการคัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุนเป็นอย่างไร มีระบบระเบียบ ความสม่ำเสมอชัดเจนในการบริหารความเสี่ยง การกระจายตัวของสินทรัพย์ตามหลักการลงทุนที่ดีหรือไม่ ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้ควรจะนำมาพิจารณาด้วยแม้เราจะชอบกองทุนที่ผลตอบแทนสูง แต่ถ้าเปลี่ยนทีมบ่อยๆ คนเก่งที่ทำผลงานดีนั้นก็อาจย้ายไปที่อื่นแล้ว หรือในบางกรณีกองทุนได้ผลตอบแทนดีมากแต่อธิบายไม่ได้ว่าขั้นตอนระบบการคัดสรรนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งนั่นอาจจะเป็นโชคดีก็ได้

          "ปัจจัยที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง คือ ขนาดของกองทุน เพราะขนาดของกองทุนเป็นตัวบ่งชี้สภาพคล่องเวลาที่ผู้ลงทุนอยากไถ่ถอนหรือขายกองทุน ถ้าเราไปลงทุนในกองทุนที่มีขนาดเล็ก แล้วเราเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ เวลาเราขายกองทุนนั้นอาจมีปัญหาสภาพคล่องได้"

          ปัจจัยนี้เราเองก็เพิ่งจะถูกทดสอบไปในการเลือกลงทุนกองทุนต่างประเทศกองหนึ่ง ทางทีมผลิตภัณฑ์ได้ทำการคัดเลือกเบื้องต้นและนำเสนอกองทุนที่ผลตอบแทนดีที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับความผันผวนก็ยังเหนือกว่ากองทุนอื่นในกลุ่มเดียวกัน แต่พอมาดูขนาดกองพบว่ามีขนาดเล็กมากในมาตรฐานสากลและเล็กกว่ากองทุนอันดับถัดไปถึงสิบกว่าเท่า แถมบริษัทจัดการก็ไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ทางคณะกรรมการจึงตัดสินใจเลือกกองที่ผลตอบแทนต่ำกว่าเล็กน้อยแต่มีขนาดและสภาพคล่องสูงกว่ามากแทน

          "พอเห็นภาพไหมครับว่าเวลาผู้จัดการกองทุนมืออาชีพต้องเลือกกองทุนนั้นมันมีขั้นตอนรายละเอียดมากมาย ไม่ใช่ดูเพียงแค่ผลตอบแทนที่มีคนส่งมาให้ผ่านไลน์กรุ๊ปในช่วงเวลาเดียวเท่านั้น เพราะถ้าเปลี่ยนช่วงเวลาอันดับต่างๆ ก็เปลี่ยนไปหมด เช่นกัน เราต้องดูความสม่ำเสมอ ขนาดและสภาพคล่องของกองทุน ชื่อเสียงบริษัท และทีมผู้บริหารที่ไว้ใจได้ประกอบการพิจารณาอีกด้วย"

          เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นะครับ เวลาเราไปเลือกซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ยังเลือกแล้วเลือกอีก ลองแล้วลองอีก นี่เงินลงทุนของท่าน ท่านก็ต้องเลือกผู้ดูแลเงินลงทุนของท่านให้ดีด้วยนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด