คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : กว่าจะมาเป็น ‘Thai ESG’ กับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน

27 ธันวาคม 2566

         กองทุน Thai ESG หรือ Thailand ESG Fund คือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน กองทุนที่ผู้ลงทุนสามารถนำจำนวนเงินที่ลงทุน มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เหมือนกับการลงทุนใน RMF, SSF, SSFX หรือ LTF ที่ออกมาก่อนหน้านี้  โดยนโยบายการลงทุนของ Thai ESG กำหนดให้สามารถลงทุนได้ในหุ้นและตราสารหนี้ของไทย ที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนตามหลัก ESG ซึ่งประกอบด้วยมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) อาทิ หุ้นไทยยั่งยืน SET ESG Ratings หรือตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน ESG Bond ทั้งนี้ กองทุน Thai ESG สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และลงทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ (เมื่อนับรวมกับวงเงินกองทุนการออมประเภทอื่นๆ ก็จะมีวงเงินลดหย่อนสูงสุดถึง 600,000 บาท) สำหรับระยะเวลาการลงทุนใน Thai ESG จะต้องถือกองทุนไว้อย่างต่ำ 8 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ (นับแบบวันชนวัน ไม่ใช่นับแบบปีปฏิทิน) และไม่บังคับว่าต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

         ​ความเป็นมาของกองทุน Thai ESG นั้น เกิดจากแนวคิดและความต้องการผลักดันการพัฒนาความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน อีกทั้ง การคำนึงถึง ESG ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำ “รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment)” ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามเกณฑ์ของ ESG เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน จากนั้นในปี 2563 รัฐบาลได้ออกแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Thailand’s Sustainable Development Plan เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน และการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน  เป็นการเน้นย้ำจุดยืนการมุ่งพัฒนา ESG ในไทย ถือเป็นก้าวสำคัญของการลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ได้เปลี่ยนชื่อ “รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment)” เป็น “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” พร้อมทั้งประกาศผลการประเมินในรูปแบบ ESG Ratings เป็นปีแรก อีกทั้ง มีการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย ให้จัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เพื่อเป็นทางเลือกลงทุนเพื่อออมให้กับนักลงทุนเพิ่มเติมจากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)  ทั้งนี้ กองทุนรวม Thai ESG โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) รวม 22 แห่งได้เสนอขายกองทุนรวม Thai ESG ให้กับนักลงทุนทั่วไป

         ​อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนที่จะสามารถอยู่ใน “รายชื่อหุ้นยั่งยืน” ได้นั้น จะต้องผ่านเกณฑ์คัดเลือกหุ้น ESG ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ว่าเป็นบริษัทที่นำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risks) พร้อมรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดย SET ESG Ratings จะประเมินจากบริษัทจดทะเบียนที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน โดยการประเมินจะครอบคลุมคำถามในมิติ ESG และมีการทบทวนแบบประเมินในทุกปี เพื่อให้แบบประเมินนั้นสอดคล้องกับบริบทแนวโน้มด้านความยั่งยืน (Sustainability Trends) ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งบริษัทจดทะเบียนที่มีผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ต้องมีคะแนนจากการประเมินความยั่งยืนอย่างน้อย 50% ในแต่ละมิติ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ได้แก่ การจัดการและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน, มิติสังคม (Social) ได้แก่ การปฏิบัติต่อพนักงาน ลูกค้า ผู้บริโภค รวมถึงชุมชนและสังคม, มิติบรรษัทภิบาล (Governance) การดำเนินงานที่โปร่งใส มีจริยธรรมทางธุรกิจ เช่น ผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance Reporting หรือ CGR) ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น ผลการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียน การไม่สร้างผลกระทบด้าน ESG  หรือเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C เป็นต้น ซึ่ง SET ESG Rating จะมีการให้คะแนนแบ่งเป็น 4 ระดับคือ ระดับ AAA (คะแนนรวม 90-100) ระดับ AA (คะแนนรวม 80-89) ระดับ A (คะแนนรวม 65-79) และระดับ BBB (คะแนนรวม 50-64) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ประเมินความยั่งยืนปีละ 1 ครั้ง แต่หากพบว่าในระหว่างปีบริษัทมีคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์  จะถูกคัดออกจาก SET ESG Ratings ในระหว่างปีได้  ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการประกาศผลประเมินเป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings มีจำนวน 193 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566)  ประกอบด้วยบริษัทที่อยู่ในระดับ AAA  จำนวน 34 บริษัท, ระดับ AA จำนวน 70 บริษัท, ระดับ A จำนวน 64 บริษัทและระดับ BBB จำนวน 25 บริษัท

 

 

ESG กับเทรนด์ลงทุนในต่างประเทศ

         ในช่วงที่โลกเริ่มตื่นตัวเรื่องของ ESG นั้น พบว่ามีกระแสความนิยมการลงทุนแบบ ESG ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก 1) ผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยมองว่าการลงทุนแบบ ESG จะช่วยลดความเสี่ยง และมีโอกาสจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว  2) ภาครัฐ-ภาคธุรกิจมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น โดยมีการออกนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ทำให้บริษัทจดทะเบียนต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นเช่นกัน และ 3) ความพร้อมของข้อมูลที่พัฒนาขึ้นช่วยให้สามารถติดตามและรายงานข้อมูล ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของข้อมูล ESG คาดการณ์ว่ามูลค่าของการลงทุนใน  ESG ทั่วโลกจะยังคงเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่อง  โดยมีแรงผลักดันสำคัญ คือ การดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่คาดจะมีความเข้มงวดมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป (EU) ได้ดำเนินมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา และสหรัฐฯ ที่เตรียมใช้กฎหมาย Clean Competition Act นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตและการใช้เชื้อเพลิง พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด  ที่จะเป็นอีกปัจจัยผลักดันให้การดำเนินการด้าน ESG รวมถึงการลงทุนใน ESG ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ESG ของตลาดหุ้นไทย และบริษัทจดทะเบียนในอนาคต

         การจัดตั้งกองทุน Thai ESG ครั้งนี้ คาดว่าจะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยและบริษัทจดทะเบียนในอนาคต ซึ่งมี 2 ประเด็นหลัก คือ (1) การเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นที่มี ESG ในอดีตที่ผ่านมา มีเฉลี่ยเม็ดเงินที่เข้าลงทุนในกอง SSF และ RMF มีมูลค่าประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสำหรับกองทุน Thai ESG นั้น มีวงเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่น้อยกว่า SSF และ RMF จึงคาดว่าในเดือน ธันวาคม 2566 (นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน วันที่ 8 ธันวาคม 2566)  จะมีเม็ดเงินใหม่ที่เข้าสู่ตลาดหุ้นจะมีมูลค่าประมาณ 0.5 - 1หมื่นล้านบาท ซึ่งจะหนุนสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้นได้ประมาณ 2% ของมูลค่าการซื้อขายรายวันสำหรับเวลาในช่วงที่เหลือของเดือนธันวาคม (2) ขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียน นำมาสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับตลาดหุ้นไทย จากข้อมูลการลงทุนที่ผ่านมาพบว่า บริษัทที่มี ESG Score ที่สูงกว่า มักจะมีความสามารถการทำกำไร และ/หรือ สร้างอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูงกว่า มีความผันผวนของกำไรที่น้อยกว่า และมีราคาหุ้นที่มีความผันผวนไม่มากเท่าบริษัทที่มี ESG Score ที่ต่ำกว่า จึงเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจที่มี ESG ต่างแข่งขันกัน ซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนี้ จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้บริษัทที่มี ESG สูงจะได้รับการประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) ในระดับที่สูงกว่าอย่างต่อเนื่อง  (เช่น อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไร-PE ratio)  ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะยาวด้วย

 

โดย คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด