คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : การฟื้นฟูของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลัง COVID-19

24 สิงหาคม 2564

         อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนประเทศไทยมาหลายยุคหลายสมัย จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวทั้งจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงจากมาตรการต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส อาทิเช่น การปิดเมือง การห้ามเดินทางข้ามจังหวัด รวมถึงการกักตัว 14 วันหากมีการเดินทางมาจากต่างประเทศหรือจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องเผชิญกับความยากลำบากที่หนักหนาที่สุดในประวัติการณ์ ยังไม่นับรวมการระบาดระลอกใหม่ของไวรัส COVID-19 ที่เริ่มขึ้นใหม่ในช่วงเดือนเมษายน 2564 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในการระบาดระลอกนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารอบที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดในรอบนี้มีอัตราการแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา

         อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากของกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ “โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นการทดลองการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถกลับเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องกักตัวถึง 14 วัน ภายใต้เงื่อนไขในว่านักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศนั้นจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบจำนวนโดส ในกรณีที่มีความประสงค์เดินทางต่อไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทย ผู้เดินทางจำเป็นจะต้องอาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ตไม่น้อยกว่า 14 วัน และจะต้องตรวจไม่พบเชื้อ COVID-19 ก่อนออกจากพื้นที่ภูเก็ต โดยได้มีการบังคับใช้นโยบายดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวส่งผลให้จำนวนยอดจองของผู้เข้าพักตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.  สูงถึง 230,000 คืน และมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมอยู่ที่ประมาณ 8,300 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจจะยังต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 อย่างมีนัยยะ

         นอกจากนี้ยังเป็นส่วนช่วยให้โรงแรมบางแห่งที่เข้าร่วมโครงการ SHA+ (Safety and Health Administration) ซึ่งเป็นโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย มีอัตราเข้าพักสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งนับว่าเป็นส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการจะยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อีกทั้งยังถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของโมเดลการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวในอนาคต รวมถึงเป็นการต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการก่อนที่จะขยายออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ

 

         สำหรับการลงทุนเองก็เช่นกัน โดยในตลาดทุนตลอดช่วงปีที่ผ่านมายังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ที่มักจะตามมาด้วยมาตราการล็อคดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงและเสี่ยงสูง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศทั้งด้านกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งผู้บริโภครวมถึงผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันภาวะการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการปรับตัวลงแรง โดยเฉพาะหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน และสนามบิน อย่างไรก็ตาม คาดว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะมีโอกาสลดลงจากผลของมาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนเท่าที่มีอยู่ในประเทศ จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจะสามารถกลับมาอยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขประเทศไทยจะสามารถรับมือได้ไหว ซึ่งสอดคล้องกับกรณีศึกษาในประเทศอังกฤษ ที่ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะมีการเร่งตัวสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า แต่เนื่องจากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลกลับไม่ได้เร่งตัวขึ้น ระบบสาธารณสุขที่ประเทศอังกฤษยังคงสามารถให้บริการต่อได้ โดยปัจจุบันประเทศอังกฤษสามารถเปิดให้มีการเดินทางได้อย่างเต็มที่และสามารถประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศไปได้ในระยะนี้

         ดังนั้น ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งมอบวัคซีน mRNA ที่ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนกำลังเร่งนำเข้ามาภายในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยคาดหวังว่าจะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถกลับมาเดินทางภายในประเทศได้ และจะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวในธุรกิจกลุ่มท่องเที่ยวในที่สุด

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด