คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ

23 สิงหาคม 2565

         ความกังวลสำหรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐรอบใหม่นี้ เริ่มต้นมาจากเส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีความชันปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี เมื่อธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว และการปรับลดลงของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10ปี ที่อยู่ในระดับที่ตลาดมองว่าสูงจนเกินไป จุดที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดคือจุดที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีอยู่สูงกว่าอายุ 10ปี เนื่องจากในอดีตเมื่อความชันติดลบนั้นจะมีโอกาสที่เศรษฐกิจในระยะ 6 – 18 เดือนข้างหน้าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากนั้นเมื่อตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐออกมาติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งเป็นการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค ตลาดมีความกังวลมากขึ้นและมีการถกเถียงว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาะวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการนั้นจะประกาศโดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ (NBER : National Bureau of Economic Research)

         สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ เป็น องค์กรไม่แสวงผลกำไร และ เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยมีหน้าที่ในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ให้แก่ทั้ง ภาคเอกชน, นักวิชาการ, และ ประชาชน นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ในการกำหนด วัฏจักรทางเศรษฐกิจสหรัฐว่าจุดสูงสุด และ จุดต่ำสุดอยู่ในช่วงเวลาใด ซึ่งวัฏจักรดังกล่าวจะนำไปสู่การกำหนดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยทาง สำนักวิจัยได้ให้คำนิยามว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นเกิดจาก การลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกระจายไปทั่วภาคเศรษฐกิจเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งทางสำนักวิจัย จะให้ความสำคัญกับปัจจัยทั้ง  3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความลึก, การกระจายตัว , และ ระยะเวลา โดยจะใช้ตัวแปรหลักจาก ธนาคารกลางสาขาเซนต์หลุยส์ ทั้ง 8 ตัวแปร เป็นหลักได้แก่ ตัวแปรที่มีความถี่รายเดือน คือ (1) รายได้ส่วนบุคคล, (2) การจ้างงานนอกภาคการเกษตร, (3) รายจ่ายส่วนบุคคล, (4) มูลค่าการผลิต และ การค้า, (5) ปริมาณการจ้างงานทั้งหมด, และ (6) ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในส่วนของตัวแปรที่มีความถี่เป็นรายไตรมาส ได้แก่ (7) ผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศที่แท้จริง ที่วัดโดยค่าใช้จ่าย(Real GDP) และ (8) ผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศที่แท้จริง ที่วัดโดยรายได้(Real GDI)


         ทางสำนักวิจัยมีมุมมองว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคในปัจจุบันนั้นยังไม่ใช่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตามคำนิยามของทางสำนักงาน เนื่องจากการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พบได้จากการปรับลดลงของ GDP นั้นเป็นเพียงแค่ตัวแปรเดียวจากอีกหลายตัวแปรที่ทางสถาบันใช้ในการวิเคราะห์ และ จากนิยามเศรษฐกิจจะต้องปรับตัวลดลงอย่างกระจายตัว, มีนัยสำคัญ และเป็นเวลานาน ซึ่งจะต้องประเมินเพิ่มเติมจากตัวแปรอื่นๆ รายเดือน และ ภาพรวมเศรษฐกิจที่วัดจากรายได้ โดยการให้น้ำหนักในแต่ละตัวแปรนั้นจะมีความยืดหยุนตามสภาพการเปลี่ยนแปลงตามเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาทางสำนักงานได้ให้น้ำหนักกับ  รายได้ส่วนบุคคล และ การจ้างงานนอกภาคการเกษตร มากกว่าตัวแปรอื่นเนื่องจากเป็นตัวแปรที่สามารถอธิบายสภาพตลาดแรงงานได้อย่างชัดเจน และ ที่ผ่านมายังคงให้ความสำคัญกับ ผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศที่วัดโดยค่าใช้จ่าย (GDP) ในระดับที่ใกล้เคียงกับ ผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศที่วัดโดยรายได้ (GDI) อีกด้วย

         โดยปกติแล้วทางสถาบันจะจัดตั้ง คณะกรรมการเพื่อประเมินเศรษฐกิจว่าเข้าสู่ระดับสูงสุด (Peaks) และ ระดับต่ำสุด (Troughs) ของวัฏจักรทางเศรษฐกิจเมื่อใด โดยถือเอาตัวแปร และคำนิยามข้างต้นเป็นหลักการในการกำหนด จากนั้นจะกำหนดให้ช่วงเวลาระหว่างจุดสูงสุด และ จุดต่ำสุด นั้นเป็นช่วงเศรษฐกิจถดถอย และ ในทางกลับกันช่วงเวลาระหว่าง จุดต่ำสุด และจุดสูงสุดเป็นช่วงเศรษฐกิจขยายตัว โดยการกำหนดครั้งล่าสุดของ คณะกรรมการ คือ จุดต่ำสุด ในช่วงเดือน เมษายน ปี 2563 ซึ่งได้ประกาศในช่วงเดือน กรกฎาคม ปี 2564 โดยจะสังเกตุได้ว่าคณะกรรมการจะใช้เวลาในการประกาศจุดต่ำสุดดังภายหลังจากที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วค่อนข้างนาน เนื่องจากคณะกรรมการต้องการให้เห็นตัวเลขอย่างแน่ชัดว่าเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดอย่างแน่นอนแล้ว ซึ่งในอดีตทางคณะกรรมการจะประกาศจุดต่ำที่สุด หรือ จุดสูงที่สุด ภายหลังจากผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว 4 – 21 เดือน

         ดังนั้นในปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ถือว่าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการ แต่จากความกังวลในปัจจุบันนั้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น, การใช้จ่ายภาคเอกชน, การลงทุน, และ การจ้างงาน ให้ลดน้อยลง สุดท้ายเศรษฐกิจสหรัฐก็จะเริ่มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และ มีโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างแท้จริงในระยะข้างหน้า จากนั้นอาจะจะใช้เวลาอีกมากกว่า 1 ไตรมาสที่ทางสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ จะออกมาประกาศว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้ผ่านจุดสูงที่สุดไปแล้ว หรือหมายถึงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการ แต่สำหรับตลาดการเงินในปัจจุบันนั้นราคาของสินทรัพย์ต่างๆ นั้นได้สะท้อนถึงโอกาสของการเกิดขึ้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะข้างหน้าไปบ้างแล้ว เนื่องจากนักลงทุนมักจะมองภาพเศรษฐกิจ และ วางแผนการลงทุนไปข้างหน้าเสมอ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด