คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : มองผ่านวัยเกษียณ..กับการออมของคนรุ่นใหม่ในวันนี้

23 สิงหาคม 2559

          เมื่อวันก่อนมีพี่ที่รู้จักซึ่งใกล้เกษียณ กำลังจะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ มาขอคำปรึกษาว่าจะจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไรในยามที่ไม่มีรายได้ประจำแล้ว พี่ท่านนี้เป็นระดับบริหาร มีรายได้ค่อนข้างสูง และยังเป็นคนประหยัดประกอบกับมีวินัยการออมจึงมีเงินเก็บมากพอสมควร มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่มีทั้งหุ้น หุ้นกู้ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันฯ รวมกันแล้วก็กว่าสี่สิบล้านบาท ถ้ามาตรฐานคนทั่วไปก็เรียกว่าอยู่ได้สบายๆ

           แต่พอมาดูรายละเอียด พี่ท่านนี้บอกว่าต้องกันส่วนหนึ่งไว้ให้ลูก 2 คนเพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ (ซึ่งก็เหมาะสมตามฐานะ เพราะพ่อแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุดตามกำลังที่ตัวเองจะส่งไหว) โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนปีละ 2.5 ล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี รวมหายไปก็ 10 ล้านบาทแล้ว เหลือจริงๆ ประมาณ 30 ล้านบาท หากนำไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยประมาณ 1.2% ต่อปี ก็จะได้ปีละ 3 แสนกว่าบาท หรือเดือนละประมาณ 30,000 บาท ซึ่งก็น่าจะพออยู่ไหวสำหรับ 2 คนตายาย แต่ถ้าเทียบกับรายได้ก่อนเกษียณที่เคยได้รับเกือบเดือนละสองแสนบาทอำนาจซื้อก็จะหายไปพอสมควร และที่เห็นมากในยุคนี้ คือ เด็กสมัยนี้พอเริ่มทำงานใหม่ๆ ก็มักจะเงินเดือนไม่พอใช้ ยังต้องพึ่งพ่อแม่อยู่อีกหลายปีกว่าจะยืนบนลำแข้งตัวเองได้ ซึ่งหมายความว่าครอบครัวนี้ต้องได้รับดอกเบี้ยหรือเงินปันผลจากเงินลงทุนอย่างน้อยกว่า 6 หมื่นบาทต่อเดือน ถึงจะทำให้ครอบครัวใช้ชีวิตที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก ถ้าจะอยู่สบายหน่อยก็อาจต้องรับงานโน่นนี่เพิ่ม

           ผมว่าพี่ท่านนี้ยังโชคดีเพราะมีวินัยการออมที่ดีมาตลอดชีวิต สินทรัพย์ที่มีอยู่หากลงทุนให้ได้ผลตอบแทนประมาณ 2.5% ขึ้นไป ก็ตอบโจทย์ของเขาแล้ว ซึ่งสภาวะของตลาดในปัจจุบันก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องไปรับความเสี่ยงที่มากจนเกินไป ในกรณีนี้ผมก็แนะนำให้พี่เขาปรับสัดส่วนการลงทุนโดยเพิ่มหุ้นกู้ของบริษัทดีๆ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนผสมที่เน้นรายได้สม่ำเสมอ เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลอินคัมพลัส โดยกระจายความเสี่ยงไปหลายๆ ตัว เมื่อคำนวณว่าปันผลและดอกเบี้ยที่ได้รับเพียงพอแล้วส่วนที่เหลือจึงไปลงกองหุ้นบ้างเล็กน้อย

           สาเหตุที่ทำให้ผมต้องมาเขียนบทความนี้ก็เพราะว่าทุกคนไม่ได้มีเงินเก็บมากขนาดนั้น คนส่วนใหญ่มีเงินเก็บไม่ถึง 10 ล้านบาทในยามเกษียณ ถ้าต้องการใช้เดือนละ 30,000 บาทก็ต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนอย่างน้อย 3.6% ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ปัจจุบันไม่ถึง 2% จึงทำให้ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นเพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้น

           ประกอบกับการแพทย์สมัยใหม่ทำให้คนอายุยืนขึ้น เราจึงต้องมีเงินหลังเกษียณเพื่อรองรับจำนวนปีที่ยาวขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่กลับมีการออมที่ลดลง โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen X ที่ออมน้อยกว่ารุ่น Baby Boomer มาก เพราะพ่อแม่เตรียมไว้ให้พร้อม เกิดมาก็สบายแล้ว ในขณะที่ Baby Boomer ยังทันเห็นพ่อแม่ผ่านความลำบากอยู่บ้างและตัวเองก็ต้องสร้างขึ้นมาใหม่จากที่ไม่มีอะไร จึงทำให้มีวินัยการออมที่สูงกว่าการออมของ Gen Y ที่ออมอยู่เพียงประมาณ 22% และ Gen Xx ที่อยู่ประมาณ 35% ของรายได้

           ผมได้ลองทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ หรือโมเดล ว่าหากเด็กจบใหม่เงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาท ทำงานไปจนเกษียณอายุ 60 ปี ได้เงินเดือนขึ้นทุกปีๆ ละ 5.5% ก่อนเกษียณจะได้รับเงินเดือนประมาณ 1แสนบาท ถ้าคน Gen Y นี้ออม 22% ของรายได้ทุกๆ เดือน และเงินออมนั้นลงทุนได้ผลตอบแทนประมาณ 3% ต่อปี (ซึ่งอัตราผลตอบแทนนี้ดีกว่าทั้งเงินฝากและพันธบัตรในปัจจุบัน) เขาจะมีเงินออมตอนเกษียณประมาณ 7.2 ล้านบาท เหนื่อยแน่ครับยามเกษียณ แต่ถ้าอยากได้เงินออม 10 ล้านบาท ก็ต้องเสี่ยงเพิ่มด้วยการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5% ต่อปี ซึ่งถ้าจะทำให้ได้ในสภาวะตลาดปัจจุบันเช่นนี้ คนนั้นต้องมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือกองทุนต่างๆ กว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ต

           ฟังอย่างนี้แล้วคงไม่มีใครอยากเดือดร้อนในยามแก่ เริ่มออมกันวันนี้เพื่อชีวิตที่มีสุขในวันหน้ากันเถอะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด