คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : คุณรู้หรือไม่ว่า บริษัทที่ Credit Rating ในระดับลงทุนได้ ก็ยังมีสิทธิ์ผิดนัดชำระหนี้! !!!

23 มิถุนายน 2560

          เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ผิดนัดชำระตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange หรือ B/E) ที่ครบกำหนด ต่างก็มีนักข่าว นักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ พากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าทำงานช้าบ้าง ไม่ทำอะไรบ้าง หรือไม่ยอมออกมาตรการมาควบคุมการออกตั๋ว B/E  ทั้งที่ปัญหาตั๋ว B/E นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 โดยตั๋ว B/E ของหลายบริษัทซึ่งไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือการจัดอันดับเครดิตเกิดการผิดนัดชำระหนี้  ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ก็คงลำบากใจ  เพราะหากออกกฎเกณฑ์มาเข้มงวดมากโดยบังคับให้การออกตั๋ว B/E  ต้องมีมาตรฐานสูงเช่นเดียวกันกับการออกหุ้นกู้ บริษัทต่างๆ ที่ใช้ตั๋ว B/E เป็นเครื่องมือในการค้าขาย ชำระหนี้กับคู่ค้าที่ทำกันมานานก็พลอยจะทำให้ธุรกิจเดือดร้อนกันไปทั่ว

          ในมุมมองของผม ปัญหาการผิดนัดชำระของ EARTH นั้นต่างจากการปัญหาของ NMG, EFORL, KC Property, RICH หรือ IFEC ในก่อนหน้านี้ เพราะ บมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ นั้นได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “BBB-“ และแนวโน้มเครดิต “Stable” หรือ คงที่จาก TRIS Rating (สถาบันการจัดอันดับเครดิตของไทย) ก่อนที่จะเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E และถูกลดอันดับไปเป็น D หรือ Default ซึ่งแตกต่างจากตั๋ว B/E ของหลายบริษัทก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ ถ้าพูดอีกนัยหนึ่งคือ ตั๋ว B/E และหุ้นกู้ของ บมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ก่อนที่จะเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้นั้น ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นตราสารที่อยู่ในระดับที่ "ลงทุนได้" หรือ investment grade เลยทีเดียว

          กฏเกณฑ์ต่างๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เตรียมไว้เพื่อให้บริษัทที่ไม่ยอมทำการจัดอันดับเครดิต ต้องทำการเปิดเผยข้อมูลกับนักลงทุนมากขึ้น ก็ไม่สามารถจะป้องกันปัญหากรณี EARTH ได้เพราะ EARTH ได้เปิดเผยข้อมูลงบการเงินทุกไตรมาสตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.  และยังได้ทำการจัดอันดับเครดิตอยู่แล้ว นักลงทุนที่เคยพิจารณาข้อมูลก่อนลงทุนที่เน้นแต่ผลตอบแทน หรือพึ่งพิงการจัดอันดับของสถาบันจัดอันดับเครดิต หรือ เรทติ้งเอเยนต์ซี่ อย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว   

          หลายท่านคงคิดว่า ขนาด EARTH เป็นบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับว่าสามารถลงทุนได้ ยังเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้เลย แล้วนักลงทุนจะพึ่งใครได้ คำตอบก็คือต้องพึ่งตัวเอง เพราะสถาบันจัดอันดับเครดิตนั้นทำการประเมินงบการเงินของบริษัท และคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และแนวโน้มของอุตสาหกรรม จึงนำมาจัดอันดับเครดิตตามหลักวิชา แต่ไม่ได้เป็นการรับประกันหรือรับรองว่าบริษัทนั้นๆ จะไม่มีปัญหา ไม่เจ๊ง ถ้าหลายท่านยังจำวิกฤติซับไพร์มของสหรัฐอเมริกาได้ บริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) มีอันดับเครดิตในระดับ A เสียด้วยซ้ำก่อนที่จะประสบปัญหาล้มละลายต้องปิดตัวลง และลุกลามกลายเป็นวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่าแม้บริษัทจะได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ นักลงทุนเองก็ควรต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน ไม่ใช่ดูแต่เพียงว่ามีอันดับเครดิตหรือไม่เพียงอย่างเดียว 

          พอมาถึงตรงนี้นี้ผมเองก็ขอถือโอกาสขยายความเรื่องการจัดอันดับเครดิตในประเทศไทย ให้นักลงทุนได้เข้าใจมากขึ้นว่า การจัดอันดับเครดิตส่วนใหญ่ที่เราเห็นในประเทศไทยนั้น เป็นการจัดอันดับภายในประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับการจัดอันดับเครดิตที่เป็นสากล ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ อันดับเครดิตของรัฐบาลไทยที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ระดับ AAA สำหรับการจัดอันดับภายในประเทศ (AAA คือมั่นคงที่สุด) แต่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเพียง BBB+ เมื่อเป็นการจัดอันดับเครดิตตามมาตรฐานสากล ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงกว่าประเทศไทย แปลเป็นภาษาบ้านๆ ว่า การจัดอันดับเครดิตในประเทศไทยนั้นต่ำกว่ามาตรฐานสากล เพราะมีการปรับเกณฑ์เทียบวัดให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในประเทศสูงสุดไม่เกินอันดับเครดิตของรัฐบาลไทย

          ในเมื่อรัฐบาลไทยซึ่งได้รับการจัดอันดับ AAA สูงที่สุดในประเทศ แต่เมื่อเทียบเป็นมาตรฐานสากลจะได้รับเครดิต BBB+ ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในประเทศหากจะนำไปเทียบกับมาตรฐานสากลก็ต้องถูกลดทอนอันดับกันไปตามสัดส่วน และเป็นไปได้ว่าบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ BBB ในประเทศไทย หรือว่าอยู่ในระดับที่ลงทุนได้นั้น ถ้าหากนำไปเทียบเป็นมาตรฐานสากลก็อาจไม่ถึงระดับที่ลงทุนได้ หรือ investment grade นั่นเอง 

          เมื่อท่านนักลงทุนทราบเช่นนี้แล้ว ก็ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากยิ่งขึ้น มิใช่แค่ดูว่าตราสารหรือหลักทรัพย์ถูกจัดอันดับในระดับลงทุนได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องหันมาดูด้วยว่าบริษัทผู้ออกตราสารนั้น ได้รับการจัดอันดับเครดิตใด ถ้าจะให้ดีควรจะมีการติดตามการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ หากท่านไม่มีเวลาก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่น่าเชื่อถือ มิใช่ดูแต่ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวเพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้น และต้องสูญเสียเงินต้นไปมันไม่คุ้มค่ากับดอกเบี้ยที่ได้มากขึ้นเพียงเล็กน้อยเลยครับ

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด