คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : การเติบโตของ E-Commerce ในประเทศไทย

14 ธันวาคม 2561

        ในยุคสมัยที่ผู้คนต่างสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่อสู่โลกดิจิตัลได้อย่างง่ายดายผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟน ซึ่งผลักดันให้ธุรกิจ E-Commerce ทั้งในส่วนของ e-Marketplace Platform และ Social Commerce Platform เป็นที่นิยมในประเทศไทยและสามารถเติบโตได้รวดเร็วและต่อเนื่องจนคาดว่ามีมูลค่าตลาดที่สูงถึง 7 หมื่นล้านบาทในช่วง 2561 (ที่มา: SCBEIC, eMarketer) นอกจากนี้ จากรายงานการวิจัยของบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Temasek ต่างก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจการค้าบนโลกออนไลน์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีมูลค่าสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2569 หรือเติบโต 4 เท่าตัวจากปี 2560 ซึ่งรูปแบบการค้าปลีกแบบใหม่นี้กำลังสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการค้าปลีกรายเดิมต้องปรับตัวให้ทันเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งล้วนจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำธุรกิจค้าปลีกในอนาคต

        ถึงแม้ว่าตลาด E-Commerce ในประเทศไทยยังมีขนาดเล็กอยู่เมื่อเทียบกับตลาด E-commerce โลกซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 2 - 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตลาด E-Commerce ของไทยก็ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นในอนาคตเนื่องจากยังมีอัตราการเข้าถึง (Penetration Rate) ของ E-Commerce ราว 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 24.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ที่มา: eshopworld.com) แต่ก็ยังไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ซึ่งการเติบโตของ e-commerce ถือเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในประเทศ หากพิจารณาข้อมูลเศรฐกิจในปัจจุบัน E-Commerce มีส่วนทั้งช่วยผลักดันการนำเข้าสินค้าอย่างต่อเนื่อง  โดยอ้างอิงจากรายงานกระทรวงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2561 ที่เปิดเผยว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าสู่ประเทศไทยขยายตัวร้อยละ 19.2 จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 ยอดการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งเกิดจากการสั่งซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยผ่านระบบ E-Commerce โดยเฉพาะในหมวดของวิตามิน เสื้อผ้าแฟชั่น รองเท้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแปลว่าในยุค E-Commerce ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นในการซื้อของจากผู้ขายในต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศมีคู่แข่งทางธุรกิจเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการเติบโตของ E-Commerce ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจในประเทศสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศโดยเป็นช่องทางที่ช่วยให้สินค้าเกษตรสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้โดยฉพาะประเทศจีน

E-Marketplace Platform กำลังสร้างโอกาสในการขยายตลาดใหม่แต่อาจต้องแลกด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น

        ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ E-Marketplace Platform มากที่สุด อาทิเช่น Lazada, Shoppee, JD.com โดยความนิยมดังกล่าวเกิดจากรูปแบบของ e-Marketplace ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการประกวดราคา ทำให้ผู้ซื้อสามารถเปรียบเทียบสินค้า และราคาของสินค้าจากผู้ขายสินค้าหลายรายในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น ระบบ e-Marketplace ต่างๆ ยังนำเสนอรูปแบบการชำระเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการชำระผ่านระบบ Internet Banking หรือ Mobile Banking หรือจะเป็นการชำระเงินสดที่ปลายทางซึ่งสร้างความสะดวกในการตัดสินในซื้อสินค้าผ่านระบบดังกล่าว รวมถึงการจัดเทศกาลโปรโมชั่นหรือระบบคูปองส่วนลด เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการนำเสนอสินค้าได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังให้บริการบริหารจัดการสินค้าคงคลังเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขายในการจัดส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อ  แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากการค้าขายผ่าน e-Marketplace Platform เป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่มีฐานผู้ใช้จำนวนมาก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงได้ประโยชน์จากการขายสินค้าได้ในปริมาณมาก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น และส่วนแบ่งจากยอดขายที่ค่อนข้างสูง เช่น สินค้าแฟชั่น ซึ่งอาจมีค่าคอมมิชชั่นสูงถึง 10% นอกจากนี้ จากงานวิจัยของ Price Waterhouse Coopers ในด้านการซื้อสินค้าพบว่า การให้บริการคืนสินค้าฟรี (Free Return Shipping) มีส่วนในการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องวางแผนการบริการเพื่อรองรับสินค้าที่จะถูกส่งคืน (Reverse Logistics)

        ความนิยมของ Social Commerce กำลังสร้างบริบทใหม่ของการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ในชีวิตประจำวัน โดยช่องทาง E-commerce ผ่าน Social Media ถือเป็นช่องทางยอดนิยมอันดับสองของประเทศไทย รองจากช่องทาง e-Marketplace Platform และเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจของ Price Waterhouse Coopers พบว่าปัจจุบันผู้บริโภคออนไลน์ชาวไทยที่ซื้อสินค้าผ่าน Social Media เช่น Facebook และ Instagram หรือที่เรียกว่า Social Commerce Platform มีสัดส่วนสูงถึง 51% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 16% และนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้งาน Social Media ในไทยที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนผู้ใช้งาน Facebook มากที่สุดในโลก โดยธุรกิจ Social Commerce เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ง่ายขึ้น และช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการเรียนรู้รูปแบบการทำการตลาดผ่านสื่อดิจิตอล (Digital Marketing) ซึ่งมุ่งเน้นในด้านการนำเสนอเนื้อหาสาระ (Content) ที่ลูกค้าสนใจเพื่อให้เกิดการติดตามต่อเนื่อง พร้อมทั้งสอดแทรกการนำเสนอสินค้าได้อย่างแนบเนียน (Tie-In) ซึ่งช่วยรักษาฐานลูกค้าซึ่งมีความจำเป็นต่อการทำธุรกิจในระยะยาว

ธุรกิจเริ่มปรับตัวรับกระแส E-Commerce ด้วย Omni Channel และการร่วมทุนกับต่างชาติ             

        ในส่วนของผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เองก็เริ่มปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับ E-commerce รายใหม่ที่เข้ามาเจาะตลาดได้ ด้วยการพัฒนาระบบ 2 ช่องทางที่มีการผสมผสานกัน (Omni Channel) ซึ่งมีทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายแบบที่มีสาขาและหน้าร้านให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงตัวสินค้าได้ด้วยตัวเอง กับช่องทาง Online ผ่าน Website และ Mobile Application ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้หลากหลายกว่าเข้าชมที่สาขา นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายได้มีการร่วมทุนกับผู้พัฒนา e-marketplace จากต่างประเทศเนื่องจากเล็งเห็นถึงการเติบโตของรายได้อย่างก้าวกระโดดทั้งในอดีตและแนวโน้มในอนาคตในตลาดต่างประเทศ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางเองก็มีการนำเสนอสินค้าผ่านทาง Social Commerce มากขึ้น โดยเน้นนำเสนอสินค้าที่มีความแตกต่างทั้งด้านดีไซน์และต้นทุน

        สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าทุกภาคธุรกิจในโลกต่างก็ได้รับผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพัฒนาระบบการทำงานและประกอบธุรกิจด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับธุรกิจของตนเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ในขณะที่ฝั่งผู้บริโภคมีทางเลือกและความสะดวกสบายมากขึ้นจากการที่ผู้ให้บริการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาด

        ในด้านของการลงทุนเองก็เช่นกันนะครับ ผมในฐานะผู้นำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ เราก็คงจะต้องพัฒนาในเรื่องของ digital platform เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันเพื่อตอบโจทย์และประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุนอยู่เสมอเช่นกันครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด