คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : การฟื้นฟูของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลัง COVID-19

13 กันยายน 2564

         การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการการเงินมีประสิทธิผลกว่าการลดดอกเบี้ย ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีเพื่อพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งค่อนข้างจะมีผลต่อตลาดการเงินไทยพอสมควร เนื่องจากการประชุม 9 ครั้งที่ผ่านมานั้น มติ กนง. เป็นเอกฉันท์มาโดยตลอด ทำให้ตลาดคาดการณ์ไปถึงการประชุมครั้งถัดไป ในวันที่ 29 ก.ย. 2564 ว่า กนง. จะมีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% ต่อปี

         นอกจากนี้ คณะกรรมการยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 นี้ จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มากกว่าที่ประเมินไว้และยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ โดยมองว่าปัจจัยสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย คือ การเร่งควบคุมการระบาดและการกระจายวัคซีนเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.7% และ 3.7% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ จากเดิมประมาณการ GDP อยู่ที่ 1.8% และ 3.9%  โดยปรับลดลงจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อและรุงแรงกว่าที่ประเมินไว้ ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมาก และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้าจากนโยบายการเปิดประเทศที่ล่าช้า

         ในแง่ของมาตรการทางการคลังนั้น รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ใช้สำหรับเยียวยา COVID-19 ระลอก 3 โดยได้มีการเบิกใช้ไปแล้วบางส่วน แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเม็ดเงินที่นำมาใช้นั้นอาจไม่สามารถชดเชยกับการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลง ซึ่งทำให้สำนักวิจัยหลายแห่งต่างก็ปรับลดประมาณการ GDP ของไทยในปีนี้ลงเรื่อย ๆ โดยตัวเลขกรณีที่เลวร้ายเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตแบบติดลบได้ ล่าสุดผู้ว่า ธปท. ได้แนะนำรัฐบาลกู้เงินเพิ่มอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะทำให้หนี้สาธารณะแตะ 70% ต่อ GDP ในอีก 3 ปี แต่จะเป็นผลดีกับประเทศไทยในระยะยาว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้กำกับนโยบายการเงินส่งสัญญาณชัดเจนต่อผู้บริหารนโยบายทางการคลัง หรือเป็นนัยว่าเศรษฐกิจไทยจะไปต่อไม่ไหวแล้ว และเครื่องมือนโยบายการเงินมีจำกัด จึงต้องหวังพึ่งนโยบายทางการคลังเพื่อให้เกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจที่น่าจะเร็วและแรงกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะพุ่งสูงกว่าเพดานที่ 60% ของ GDP แต่ก็ไม่ได้กระทบเสถียรภาพการคลังอย่างมีนัยสำคัญ

 

         ดังนั้น เรายังคงมองว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อรอให้นโยบายการคลังทำงานและประเมินประสิทธิผลของเม็ดเงินที่รัฐบาลนำไปใช้จ่ายเพื่อพยุงเศรษฐกิจ รวมถึงการกระจายของวัคซีน และจากความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต (Policy space) ที่จำกัด กอปรกับประสิทธิผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่มากนัก อย่างไรก็ดี กระสุนเม็ดนี้ใช่ว่าจะไม่ถูกนำมาใช้ หากการแก้ไขหลักของปัญหาวิกฤตซึ่งก็คือ ระบบสาธารณสุข รวมทั้งการควบคุมการระบาด และการกระจายวัคซีน ยังไม่สามารถทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้ปกติในเมื่อเข้าไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ซึ่งนั่นหมายความว่านโยบายการคลังมีข้อจำกัดและไม่เพียงพอ

         สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงนี้นั้น มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นยังทรงตัวระดับต่ำ และคาดว่าจะมีโอกาสปรับขึ้นได้น้อยตามมุมมองเศษฐกิจไทยที่ถูกกระทบค่อนข้างหนักและฟื้นตัวได้ช้า ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอาจจะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเร็วนักในระยะนี้ จากปัจจัยต่างประเทศเรื่องการลดการผ่อนคลายทางการเงินที่อาจไม่ได้มาเร็วตามที่คาดว่าก่อนหน้านี้ เนื่องจากเศรฐกิจโลกแม้จะฟื้นตัวแต่ยังคงเปราะบางจากการกลายพันธุ์ของไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะในสหรัฐฯ

         สำหรับในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 มองว่า อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มทรงตัวในระยะสั้น จากสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปอย่างช้าๆ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวในระยะสั้น แต่ในภาพรวมทั้งปีนี้ยังคงมองว่า อัตราเงินเฟ้อจะทรงอยู่ในกรอบประมาณ 1% โดยธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ตลอดปีนี้ และเน้นการใช้มาตรการเฉพาะจุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรสภาพคล่องมากขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในระยะกลาง - ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เร็วกว่าไทย และโอกาสที่เฟดจะทำ QE Tapering ในปีหน้า รวมถึงปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการระดมทุนของภาครัฐเพื่อสนับสนุนมาตรการการคลังขนาดใหญ่เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด