คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : Vietnam_The Country of Hope

8 มีนาคม 2565

         ปัจจุบันการลงทุนในประเทศเวียดนามมีความน่าสนใจในหลายมิติ โดยภาพรวมเวียดนามมีปัจจัยการสนับสนุนการเติบโตหลายด้าน จากการงบประมาณขาดดุลของภาครัฐ การบริโภคภายในประเทศ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนตรงจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

         ประเทศเวียดนามมีแรงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมากจากศักยภาพการเติบโตของประเทศ โดยรัฐบาลเวียดนามได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจ ช่วงปี 2021-2025 ในระดับที่ค่อนข้างสูงที่ระดับ  6.5-7.0 % จากปัจจัยการขยายตัวภาคผลิตอุตสาหกรรม เศรษฐกิจดิจิตอล และคาดว่ารัฐบาลจะตั้งเป้าขาดดุลการคลัง 4% ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ หากพิจารณาจากคาดการณ์ของ IMF ขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามที่มีการขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ ASEAN ในปี 2022 และ 2023 โดยในปี 2022  GDP เวียดนามคาดว่าจะขยายตัวที่ 5.5% และกลุ่มประเทศ ASEAN ขยายตัวที่ 5.2%  และในปี 2023 GDP  เวียดนามจะขยายตัวที่ 6.5% และค่ากลุ่มประเทศ ASEAN ขยายตัวที่ 4.9% ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูง

         การขยายตัวของเศรษฐกิจของเวียดนามก็มีแรงขับเคลื่อนจากหลายปัจจัยด้วยจำนวนประชากรของเวียดนามประมาณ 100 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างประชากรที่มีประชากรในวัยแรงงานในสัดส่วนที่สูง มีแนวโน้มว่าปริมาณแรงงานในประเทศที่เติบโตดีต่อจนถึงปี 2040 ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคภายในประเทศที่จะขยายตัวในระยะต่อไป โดยคาดว่ารายได้ต่อคนของเวียดนามมีแนวโน้มสูงขึ้น ขนาดเมืองที่ขยายตัว (Urbanization) ประกอบกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ยังต่ำจะสามารถหนุนกำลังซื้อต่อเนื่องได้ สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มที่ดีโดยสัดส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นจาก 40% ในปี 2000 เป็น 86% ปี 2020 และมีสัดส่วนส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น เวียดนามมีสถานะทางการคลังแข็งแกร่ง จากสัดส่วนการส่งออกที่ค่อนข้างมาก พึ่งพาการกู้เงินจากนักลงทุนต่างชาติต่ำ สถานะบัญชีเดินสะพัดของประเทศแข็งแรง ทำให้สถานะทางการคลังมีเสถียรภาพอยู่พอสมควร


         ที่ผ่านมาเวียดนามได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัส Covid-19 เหมือนกับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดเมืองโฮจิมินห์ และเมืองอื่นๆ จากดัชนี Apple Mobility ที่ชี้วัดปริมาณกิจกรรมนอกบ้านของประชาชน ก็ปรับตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปลายปี 2021 แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มเข้าใกล้ภาวะปกติ  ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนของชาวเวียดนาม ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม และครบ 2 เข็มแล้วสูงถึง 80% และ 70% ตามลำดับ คาดว่าการดำเนินมาตรการของรัฐบาลจะไม่ได้กลับไปปิดเมืองเหมือนช่วงก่อนซึ่งจะผลักดันทิศทางการการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อไป

         แม้ว่าการลงทุนในตลาดเวียดนามยังมีข้อจำกัดการเรื่อง Foreign ownership ของนักลงทุนต่างชาติอยู่บ้าง แต่การลงทุนในตลาดหุ้นของเวียดนามเปิดกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน ตลาดหุ้นมีสภาพคล่องที่สูงขึ้นกว่าในอดีต  โดย บลจ. ไทยพาณิชย์ มีกองทุนที่ลงทุนในประเทศเวียดนาม ในรูปแบบกองทุนรวมทั่วไปและกองทุนรวมประหยัดภาษี RMF โดยการบริหารกองทุนมีจุดเด่นที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Active ไม่ได้อิงการบริหารเงินลงทุนกับดัชนีหรือตัวเทียบวัดใดๆ การจัดสรรเงินลงทุนแบ่งเป็นสามส่วน ในหุ้นรายตัว, ETF, Active Fund ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในทุกภาวะตลาดในระยะยาว อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุน และกองทุนจัดให้มีมีสภาพคล่อง (Liquidity) ที่เพียงพอ เพื่อรองรับความผันผวนหากตลาดปรับตัวแรง

         แม้ว่าเวียดนามยังเป็นตลาดชายขอบ (Frontier Market) ในปัจจุบัน แต่ในอนาคตมีโอกาสที่เวียดนามจะขยับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) คาดว่าจะมีปริมาณเม็ดเงิน Fund Flow และเงินลงทุนอื่นๆ ไหลเข้าเวียดนามอีกจำนวนมาก กล่าวได้ว่าเวียดนามเป็นประเทศแห่งความหวัง จากศักยภาพของประเทศที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด