คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : ทิศทางการลงทุนปี 2018…กระทิงจริงหรือ

7 กุมภาพันธ์ 2561

        ในช่วงต้นปีของทุกๆ ปี สถาบันการเงินใหญ่ๆ ระดับโลกอย่าง Goldman Sachs, UBS, Credit Suisses, Citi Group หรืออื่นๆ มักจะจัดงานสัมมนาเศรษฐกิจการลงทุนให้กับลูกค้านักลงทุนสถาบัน (Global Macroeconomic and Investment Seminar) ในงานสัมมนาเหล่านั้นมักจะมีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง อาทิ ผู้ว่าธนาคารกลาง รัฐมนตรีและผู้จัดการกองทุนระดับโลก มาสนทนาเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในทุกๆ ปีงานสัมมนามักจะให้ความสำคัญกับข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจการเงิน ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ การผลิต ภาคอุตสาหกรรมและบริการ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเตรียมพร้อมจัดพอร์ตการลงทุน และที่สำคัญจะขาดไม่ได้ก็คือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเข้ามากระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง กรณีพิพาทระหว่างประเทศ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง หรือปัญหาหนี้สินทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ๆ ของโลก

        งานสัมมนาที่ผมได้โอกาสเข้าร่วมในปี 2018 นี้ นักลงทุนที่เข้าร่วมงานสัมมนาต่างเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้ดีมาก ประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ก็เติบโตกันถ้วนหน้า ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันก็ได้อานิสงส์จากราคาที่ปรับขึ้น ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ  ที่พึ่งพาการส่งออกก็เติบโตได้ดีเพราะประเทศผู้นำเข้ามีการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น หมายถึง ธนาคารกลางทั่วโลก หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็คงขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ เพราะแทบไม่มีเงินเฟ้อหรือปัจจัยผลักดันให้ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย ทุกอย่างดูดีไปหมด แต่ที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องปัจจัยเสี่ยงเลย ผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างดูจะมั่นใจว่าปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีจะไม่มีใครจุดชนวนให้ปะทุขึ้นไปมากกว่านี้ ปัญหาหนี้ภาคเอกชนในจีนรัฐบาลจีนก็สามารถควบคุมอยู่ ปัญหาหนี้ภาครัฐของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องที่ยอมรับกันไปแล้ว และคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตราบเท่าที่เงินดอลล่าร์และเงินเยนยังเป็นสกุลเงินหลักของโลก

         

        ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปีต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วที่ขึ้นมามากพอสมควร ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป จีน อินเดีย แข่งกันทำสถิติไม่เว้นแต่ละวัน นักวิเคราะห์ต่างก็ยังออกมาเชียร์ว่าดัชนียังมีโอกาสไปต่อ และการลงทุนในหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุดแม้ว่าราคาจะปรับขึ้นมามากแล้วก็ตาม

        ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลเงินลงทุนของนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ผมก็อดเป็นกังวลไม่ได้ว่าตลาดหุ้นพี่ใหญ่สหรัฐฯ ที่เป็นขาขึ้นหรือตลาดกระทิงที่ต่อเนื่องมายาวนานที่สุดกว่า 9 ปี นั้นจะสามารถฝืนกระแสธรรมชาติไปต่อได้อีกนานเท่าไร P/E ratio ของตลาด S&P500 ที่กว่า 23 เท่า หากนำมาคิดคำนวณกลับเศษเป็นส่วนหาอัตราผลตอบแทนคือ ประมาณ 4.3% เมื่อนำมาเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสหรัฐฯ ที่ทยอยปรับตัวขึ้นมาปัจจุบันอยู่ประมาณ 2.5% นั้น ก็จะเห็นว่าตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าไม่มากแล้ว ส่วนต่างของผลตอบแทนที่ตลาดหุ้นให้สูงกว่าอยู่ 1.8% หรือที่เรามักเรียกกันว่า risk premium นั้นถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวมาก ตลาดเองน่าจะเข้าใกล้จุดสูงสุดของรอบใหญ่นี้และอาจมีการปรับฐานครั้งใหญ่ได้ และทุกครั้งที่ตลาดใหญ่มีการปรับตัวลงแรง ตลาดเล็กๆ ก็พลอยจะโดนกันบ้างไม่มากก็น้อย

        อย่างที่ วอเรน บัฟเฟต ได้กล่าวไว้ว่า “จงกลัวในเวลาที่คนอื่นกล้า และจงกล้าในเวลาที่คนอื่นกลัว” แม้ว่าจะไม่มีใครรู้เวลาที่แน่นอนว่าตลาดจะลงเมื่อไหร่ ผมก็อยากแนะนำให้นักลงทุนทยอยปรับลดน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยงลงบ้าง ที่กำไรมากแล้วก็ทยอยทำกำไรออกมาหน่อย มีการกระจายการลงทุนไปในหลากหลายสินทรัพย์ และเก็บสภาพคล่องไว้บ้างเพื่อเข้าซื้อเมื่อตลาดปรับฐานกันนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด