คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : ตลาดหุ้นไทยยังไปได้สวย

6 สิงหาคม 2561

        ภาพรวมการลงทุนในหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2561 ตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลง 9.02% หรือ 158.13 จุด โดยปรับตัวลดลงจาก 1,753.71 จุดจากสิ้นปี 2559 เป็น 1,595.58 จุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561 ด้วยแรงขายจากนักลงทุนต่างประเทศ 180,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ตลาดหุ้นไทยเปิดต้นปีมาด้วยความสดใสคึกคัก โดยในวันแรกของการเปิดตลาด (4 ม.ค. 2561)  ตลาดหุ้นไทยทำสถิติทะลุจุดสูงสุดตลอดกาลของตลาดตั้งแต่จัดตั้งมา จากจุดสูงสุดเดิมอยู่ที่ 1,789.16 จุด โดยปิดตัว ณ สิ้นวันอยู่ที่ 1,791.02 จุด จากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะได้รับผลบวกจากนโยบายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์   ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวตามขึ้นมาทำให้ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นไปในทิศทางขาขึ้น   โดยปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย FED Fund Rate จัดว่าเป็นปัจจัยที่รับรู้เป็นการทั่วไปแล้วจึงไม่ควรส่งผล Negative Surprise ต่อการลงทุนเท่าใดนัก  

        สำหรับตลาดหุ้นไทยซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็น Energy Sector ประมาณ 22% ของตลาดรวม ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะเป็นขาขึ้นต่อไปได้อีก และมีข่าวการจะแตกพาร์ของหุ้น ปตท. ด้วยสัดส่วน 8% ของตลาดรวม จึงดันให้ตลาดหุ้นไทยทำสถิติสูงสุดใหม่ในระหว่างวันของวันที่ 27 ก.พ. 2561 ที่ระดับ 1,852.51 จุดและปิดที่ 1,830.39 จุด ณ สิ้นวัน

        แต่พอเข้ามาถึงในช่วงไตรมาสที่ 2 ตลาดหุ้นเกิดการวกกลับลงอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาส โดยปรับตัวลดลงถึง 180.68 จุด หรือคิดเป็น 10.17% ซึ่งเกิดจากการที่ ทรัมป์ แสดงทีท่าว่าสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีนมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นภายหลังจากที่จีนเริ่มใช้นโยบายเผชิญหน้าและตอบโต้กับสหรัฐฯ โดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เท่ากับที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน อันเป็นเหตุให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่การขยายขอบเขตการกีดกันการค้ายิ่งขึ้นไปอีก ทั้งในแง่ของชนิดของสินค้าและมูลค่าสินค้า ซึ่งจะส่งผลลบเป็นวงกว้างต่อการส่งออกสินค้าของประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียซึ่งเศรษฐกิจต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังจีนเพื่อ Re-Export ออกไปยังประเทศสหรัฐฯ อีกทอดหนึ่ง    เมื่อประกอบกับค่าเงินสหรัฐฯ ที่ยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย FED Fund Rate ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นในประเทศเกิดใหม่รวมทั้งในประเทศไทยเพื่อย้ายเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ ดังนั้นภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรกนักลงทุนต่างชาติจึงขายหุ้นไทยออกไปราว 180,000 ล้านบาท และหากนับเดือน ก.ค. ที่นักลงทุนต่างชาติยังขายอยู่อย่างต่อเนื่องในช่วง 3 สัปดาห์แรก รวมเป็นเงินที่นักลงทุนต่างชาติขายไปสุทธิเกือบ 200,000 ล้านบาทใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นในช่วง Hamburger Crisis ในปี 2551 และช่วง FED Tapering ในปี 2556 ที่ผ่านมา  

         

        ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม  ภายหลังจากที่จีนมีท่าทีที่ประนีประนอมมากขึ้นทำให้นักลงทุนพักความกังวลเกี่ยวกับสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน และเมื่อผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกมาได้ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์มาก ในขณะที่ Valuation ของตลาดหุ้นไทยอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี ส่วนค่าเงินบาทก็ได้อ่อนค่าลงมากแล้วและเริ่มจะทรงตัวได้ทำให้มีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศกลับเข้ามา ส่งผลให้หุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. หุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,701.79 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 106.21 จุดหรือ 6.66% นับจากสิ้นเดือน มิ.ย.

        อย่างไรก็ตามในจังหวะที่หุ้นไทยปรับตัวลดลงมากเช่นนี้ กลับเป็นจุดที่นักลงทุนได้ทยอยสะสมหุ้นไทยผ่านการลงทุนในกองทุนรวมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้าซื้อ Equity Large Cap คิดเป็นเป็นจำนวนสูงถึง 40,621 ล้านบาท หากคิดในรวมในช่วงครึ่งปีแรกปรากฎว่านักลงทุนซื้อกองทุนหุ้น Equity Large Cap ภายในประเทศ เป็นจำนวน 59,076 ล้านบาท  อันเป็นจำนวนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งเป็นการขายหุ้นออกจากกองทุนหุ้น Equity Large Cap ภายในประเทศเป็นจำนวน 13,167 ล้านบาท (ที่มา Morningstar Direct)  

        นอกจากนี้ในไตรมาสที่ 2 นี้ยังมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุน LTF  ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันด้วยจำนวน 8,831 ล้านบาท แต่หากนับรวมตั้งแต่ต้นปียังเป็นเม็ดเงินไหลออกสุทธิ 4,881 ล้านบาท (ที่มา Morningstar Direct) แต่คาดว่าเม็ดเงินลงทุนจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อในช่วงสิ้นปี

        สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี 2561 ผมมองว่าจะยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยเดิมๆ อยู่บ้าง  แต่จะมีทิศทางเป็นขาขึ้นต่อไปได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงขยายตัวดีจากการขับเคลื่อนของการลงทุนภาครัฐที่จะยังคงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ความชัดเจนเรื่องการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor)  ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ภาคเอกชนเกิดความมั่นใจและตามมาซึ่งการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่เงินบาทที่อ่อนค่าลงมาในระดับนี้จะส่งบวกต่อภาคการส่งออกอันเป็นอีกหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย และจากนี้ไปการที่เงินบาทมีแนวโน้มจะทรงตัวจึงไม่เป็นตัวเร่งให้เกิดกระแสเงินทุนไหลกลับดังเช่นที่ผ่านมา นอกจากนี้ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ในจุดต่ำสุดแล้ว (Bottom Out) ในไตรมาสที่ 2 นี้และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสถัดๆ ไป จะช่วยเป็นปัจจัยให้ตลาดปรับตัวกลับขึ้นไปต่อได้  

        ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้หุ้นไทยผันผวนเป็นระยะๆ นั้นส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกประเทศ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่  สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีนที่จะยังคงสร้างความผันผวนให้กับตลาดต่อไปได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ถึงต้นไตรมาสที่ 4 การลดวงเงินอัดฉีดทางเศรษฐกิจ (QE: Quantitative Easing) ของทางสหรัฐฯ และยุโรปที่จะทำให้เม็ดเงินที่ลงทุนลดลง  และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

        อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมองว่าตลาดหุ้นก็ยังเป็นตลาดที่ยังคงมีความน่าสนใจอยู่นะครับ  แต่ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ยังไงก็ควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนด้วยนะครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด