คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : ลงทุนก่อน ...ก็ยิ่งรวยกว่า

3 มีนาคม 2560

          เมื่อหลายปีก่อนตอนผมมาเริ่มงานในธุรกิจการลงทุน ก็มีตำราต่างๆ มากมายที่แนะนำ ให้พวกเรารีบออมเงินและรีบลงทุนตั้งแต่เริ่มทำงาน โดยในตำราเหล่านั้นจะเน้นว่าออมก่อนรวยกว่า สาเหตุหลักก็มาจากผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยที่ทบต้นเพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่ออมและลงทุนทีหลังตามไม่ทัน แต่ในช่วงหลังนี้เรามักจะพบว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้คุณภาพดีลดลงมากทำให้ผลลัพธ์ของดอกเบี้ยทบต้นไม่แตกต่างกันมากเช่นแต่ก่อน ทำให้เด็กรุ่นใหม่อาจไม่เห็นความสำคัญของการรีบออมเงิน เพราะดอกเบี้ยมันน้อยเหลือเกิน แต่ถึงเช่นนั้นผมก็ยังเห็นว่าปัจจุบันเรายังมีความจำเป็นที่จะต้องรีบลงทุนมากขึ้นไปอีก โดยมีประเด็นใหม่ๆ ที่ต้องพิจารณาดังนี้

          สาเหตุหลักๆ มาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Disruptive Technology) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย หรือและหุ่นยนต์ต่างๆ เราจะเห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ได้มาทดแทนการจ้างงานของคนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตทดแทนแรงงานแบบเดิมๆ โซเชียลมีเดียที่เข้ามาแข่งกับธุรกิจสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ ทำให้หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแม้แต่ทีวีต้องปิดตัวกันไปหลายแห่ง การขายของผ่านทางอินเตอร์เน็ตซึ่งได้เข้ามาแข่งขันกับร้านแบบเดิมๆ ในตลาดและห้างสรรพสินค้า ทำให้ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าหลายแห่งต้องปิดตัวลง เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา การจ่ายเงินผ่านระบบ e-payment และ e-wallet ต่างๆ ก็เข้ามาแข่งขันกับธุรกิจการโอนเงินของธนาคาร และเครดิตการ์ด โดยล่าสุดมีข่าวว่าบริษัทเทคโนโลยีได้พัฒนารถแบบไม่มีคนขับซึ่งต่อไปก็จะเข้ามาทดแทนทั้งแท็กซี่และรถบรรทุก แม้กระทั่งการนำโดรนมาใช้ในการส่งของ ส่งอาหาร ก็เริ่มเป็นรูปธรรมแล้ว แม้แต่งานวิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือการจัดการกองทุนในปัจจุบันก็มีผู้เริ่มนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence มาทำงานแทนนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนด้วยแล้ว

          เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคนมากขึ้นเท่าใด การสร้างความมั่งคั่งจากแรงงานหรือการทำงานก็ลดลงเท่านั้น รุ่นคุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่เรานั้น ขอให้ขยันทำงานเก็บหอมรอมริบก็พอจะสะสมความมั่งคั่งได้ ถ้าใครหัวดีมีโอกาสก็ยิ่งร่ำรวยกันเข้าไปใหญ่ แต่เมื่อหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์สามารถเข้ามาทำงานแทนคนได้ ความขยันก็ไม่ได้ช่วยอะไรอีกต่อไป บริษัทที่เคยย้ายฐานการผลิตจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อใช้แรงงานราคาถูกก็ไม่จำเป็น เพราะใช้หุ่นยนต์ทำแทนแรงงานได้แล้ว สู้ตั้งโรงงานอยู่ในประเทศของตนเองซึ่งมีตลาดทุนที่พัฒนาจะทำให้มีความสามารถในการระดมทุนได้ดี หรือต้นทุนต่ำและยังสามารถซื้อเครื่องจักรได้ราคาถูก (lower cost of capital) แถมยังประหยัดค่าขนส่งเพราะอยู่ใกล้ตลาดผู้ซื้อปลายทาง

         เมื่อเป็นเช่นนี้ช่องว่างของความร่ำรวยระหว่างนายทุน (ซึ่งก็คือเจ้าของทุน หรือ นักลงทุนนั่นเอง) กับผู้ใช้แรงงานก็จะยิ่งกว้างขึ้นไปอีก เพราะเมื่อมีทุนไปซื้อเครื่องจักรหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาก็ผลิตและค้าขายได้ไม่ต้องพึ่งแรงงานจำนวนมากอีกต่อไป ผมเล็งเห็นว่าผลตอบแทนจากการลงทุนหรือ return on capital แม้จะลดลง เมื่อเทียบกับอดีต แต่ก็ยังสูงกว่าผลตอบแทนจากการขายแรงงาน return on labor ยิ่งเมื่อเราได้เห็นตัวเลขการศึกษา productivity and wage inflation ในประเทศพัฒนาแล้ว ก็จะยิ่งเป็นเครื่องยืนยันข้อสังเกตนี้ได้ดีขึ้นไปอีก เพราะค่าจ้างแรงงานในประเทศเหล่านั้นเพิ่มขึ้นน้อยมากๆเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ หรือในทางกลับกันคือเมื่อหักเงินเฟ้อออกจากค่าจ้างแรงงาน โดยเฉพาะในทางอุตสาหกรรม ค่าจ้างแทบจะไม่เปลี่ยนเลยในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา

         มาถึงตรงนี้ลูกจ้างอย่างเราๆ หรือแม้แต่ทางเจ้าของกิจการก็คงต้องกลับมาคิดใหม่ว่าทำอย่างไรเราถึงจะเป็นเจ้าของทุน  เจ้าของเครื่องจักร เจ้าของเทคโนโลยี รวมถึงปัจจัยการผลิตใหม่ๆ และให้สิ่งเหล่านั้นทำงานแทนเรา ดังนั้นการลงทุนจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากกว่าในอดีตเสียอีก อาจถึงขั้นพูดได้ว่าไม่ลงทุนไม่ได้เลยเพราะในอนาคตทุนหรือเครื่องจักรนั้นจะทำงานแทนคนเกือบทั้งหมด ผู้ที่ไม่ลงทุนก็ไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และไม่ได้ผลตอบแทนจากการผลิตเลย แม้ว่าบทความวันนี้จะฟังดูลํ้ายุคหรือทฤษฎีหนักไปหน่อย แต่ถ้าเรามองเห็นว่า ทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามาทำงานแทนคนในหลายสาขาอาชีพแล้ว พวกเรายิ่งต้องรีบลงทุนในเทคโนโลยีกันนะครับ
         

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด