คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : การลงทุนตราสารหนี้ยามดอกเบี้ยตลาดโลกติดลบ

3 มีนาคม 2559

       ยามที่สภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อได้สร้างความท้าทายในการบริหารการเงินและการคลังให้กับทุกประเทศเป็นอย่างมาก โดยยุโรปและญี่ปุ่น ได้นำนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ โดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินเป็นจำนวนมาก เพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลลดต่ำลง พร้อมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระหว่างธนาคารกลางกับธนาคารพาณิชย์ไว้ในระดับติดลบ ซึ่งก็คือ หากธนาคารพาณิชย์ฝากเงินกับธนาคารกลาง ก็จะถูกหักเงินต้นออกไป โดยเจตนาของนโยบายนี้เพื่อต้องการให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปลงทุนผ่านการให้สินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นมากกว่าฝากเงินกับธนาคารกลางที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือเพียงแค่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเท่านั้น นอกจากนี้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยติดลบ ยังเป็นการส่งเสริมให้ค่าเงินของสกุลเงินนั้นอ่อนค่าลง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าขายระหว่างประเทศในอีกทางหนึ่งด้วยครับ

       ผลกระทบดังกล่าวข้างต้น ส่งผลกับประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าเพราะนักลงทุนต่างประเทศหาแหล่งลงทุนที่มีความผันผวนน้อยกว่า ซึ่งประเทศไทยในขณะนี้ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพด้านการเงินระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่ดีกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งหรืออัตราหนี้สินภาครัฐต่อจีดีพีของประเทศอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นปัจจัยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลลดต่ำลงอีกด้วย ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ เพราะจะทำให้กระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามามากเกินไปจนกดดันให้ค่าเงินแข็งค่ามากขึ้นจนส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสำหรับการส่งออก ในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพยายามรักษาดุลยภาพของระดับอัตราดอกเบี้ยไม่ให้ลดต่ำมากเกินไปจนส่งผลให้เกิดการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพ อันจะส่งผลกระทบกลับมายังระบบเศรษฐกิจของประเทศได้

       “จากเหตุการณ์นี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ แต่สำหรับนักลงทุนที่ยังต้องการลงทุนในตราสารหนี้ และต้องการผลตอบแทนที่ไม่ต่ำจนเกินไป ก็มีทางเลือกเพิ่มเติม โดยการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยของการลงทุนยาวขึ้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการลงทุน (Capital gain) และอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยสถาบันการเงินและภาคเอกชนที่มีคุณภาพ ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ หรือในกรณีที่นักลงทุนมีเงินลงทุนแต่มีเวลาศึกษาข้อมูลไม่มากพอ ก็สามารถลงทุนแบบมืออาชีพผ่านบริษัทจัดการได้ ”

       ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้ ผู้จัดการกองทุนจะทำการคัดเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยสถาบันการเงิน และภาคเอกชนที่มีความแข็งแกร่งทางด้านฐานะการเงินและให้ผลตอบแทนที่ดี เพื่อให้นักลงทุนพอใจในผลตอบแทนในขณะที่มีความเสี่ยงของการลงทุนในระดับที่เหมาะสม โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด ก็มีโอกาสได้นำเสนอกองทุนตราสารหนี้ประเภทนี้ อาทิเช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ พลัส(SCBFP) หรือกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เกษียณสุข (ตราสารหนี้) (SCBRF) เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับนักลงทุนด้วยเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะลงทุนด้วยวิธีใดก็ตาม นักลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนด้วยครับ

โดย สมิทธ์ พนมยงค์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด