COO Talk: เก็บภาษีการลงทุน ‘หุ้นต่างประเทศ’ กระทบใคร??

22 พฤศจิกายน 2566

          จากประกาศของกรมสรรพากรเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่มีการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศไทย รวมไปถึงเงินได้จากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยจะมีผลเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไปนั้น การปรับปรุงวิธีการดังกล่าวนี้จะมีผลต่อผู้ที่ได้กำไรจากการซื้อขายทรัพย์สิน เช่น หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ รวมถึงคนไทยที่มีรายได้จากการทำงานในต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุดถึง 35%

          วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว กรมสรรพากรเปิดเผยว่า จำเป็นต้องปรับปรุงให้การจัดเก็บภาษีเกิดความเป็นธรรมมากขึ้นระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในประเทศและภายนอกประเทศ ประกอบกับการพิสูจน์การมีเงินได้ และช่วงเวลาในการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเดิมเป็นข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีแหล่งเงินได้นอกประเทศลดลงไปอย่างมาก ทั้งนี้ หากผู้มีเงินได้ถูกเก็บภาษีไว้ในประเทศแหล่งเงินได้แล้ว ผู้มีเงินได้สามารถนำภาษีที่
ถูกประเทศแหล่งเงินได้ที่มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยเก็บไว้มาใช้เป็นเครดิตภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อน

          จากประกาศของกรมสรรพากรดังกล่าว สรุปได้ว่า บุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย หากเข้าเงื่อนไขครบ 2 ข้อ ดังต่อไปนี้  1) อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีที่เกิดเงินได้ (ตามปีปฏิทิน 1 ม.ค. - 31 ธ.ค.) และ 2) นำเงินได้จากต่างประเทศกลับมาในประเทศไทยในปีภาษีนั้น เข้าข่าย “เสียภาษี” ซึ่งทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มีความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้กรมสรรพากรได้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเงินได้หรือกำไรที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกโอนกลับประเทศไทยภายในปีที่เกิดเงินได้ จึงทำให้นักลงทุนที่ลงทุนหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่ หากมีกำไรก็จะถือข้ามปีปฏิทิน แล้วค่อยโอนเงินกลับมาในปีถัดไป เพื่อที่จะไม่โดนเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป ไม่ว่าจะโอนเงินได้หรือกำไรกลับเข้าประเทศไทยในปีไหน เงินได้หรือกำไรนั้นก็จะต้องถูกนำมารวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

          ประกาศฉบับนี้ จะมีผลอย่างไรต่อนักลงทุนบ้าง ก็คงต้องพิจารณาในหลายองค์ประกอบของนักลงทุนแต่ละคน เช่น ฐานภาษี จำนวนเงินที่นำไปลงทุนในต่างประเทศ และประเภทการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น หากนักลงทุนรายนั้นเสียภาษีอยู่ที่ 10% และจำนวนเงินลงทุนไม่สูงมาก ก็อาจจะไม่มีผลกระทบอย่างมากในการเสียภาษี ในทางกลับกัน หากนักลงทุนรายนั้นเสียภาษีอยู่ที่ 25% หากมีกำไรจากการลงทุน 100,000 บาท จะต้องเสียภาษีอย่างน้อย 25,000 บาท หรืออาจจะเสียภาษีมากกว่านั้น เพราะฐานภาษีขยับไปที่ 30% ก็อาจเป็นได้

          อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงต้องรอความชัดเจนในส่วนของหลักเกณฑ์ หรือวิธีการที่กำหนดว่าจะต้องเสียภาษีอย่างไร ซึ่งกรมสรรพากรจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ หากนักลงทุนยังมั่นใจว่าการลงทุนในหุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่าการลงทุนในหุ้นไทย ก็อาจจะยังคงเลือกที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ หรืออาจเลือกพิจารณารูปแบบการลงทุนอื่นที่มีค่าใช้จ่ายน้อยลง หรืออาจไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประกาศกรมสรรพากรฉบับใหม่นี้ อย่างเช่น การลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ลงทุนที่น่าจะตอบโจทย์ และไม่ต้องนำกำไรจากการลงทุนในกองทุนรวม (Capital gain) ไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน หรือค่าใช้จ่ายกองทุนแทน

          ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการกองทุนมายาวนาน บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด มีกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศที่หลากหลาย เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน และอสังหาริมทรัพย์ ให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่เหมาะกับตนเอง รวมทั้งเปิดโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางแผนไว้ หากท่านสนใจลงทุนผ่านกองทุนรวมกับ บลจ.ไทยพาณิชย์ สามารถติดต่อได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ทุกสาขา หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด โทร.0-2777-7777 , www.scbam.com

 

โดย  คุณปิ่นสุดา ภู่วิภาดาวรรธน์
        Chief Operating Officer
        สายวางแผน เทคโนโลยีและปฏิบัติการ
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด