COO Talk ตอน รู้จัก CRS เกี่ยวข้องกับนักลงทุนอย่างไร?

22 สิงหาคม 2566

          CRS หรือ “Common Reporting Standard” เป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ ซึ่งเราอาจจะได้ยินมากขึ้นเรื่อย ๆ ในพักหลังนี้ CRS เกี่ยวข้องกับนักลงทุนอย่างไร? เกี่ยวข้องโดยตรงเลยค่ะ เพราะ CRS เป็นมาตรฐานการรายงานข้อมูลภาษีระดับสากล สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ (Automatic Exchange of Financial Account Information: AEOI)  พัฒนาโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยประเทศไทยจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามมาตรฐานที่ OECD กำหนด ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ คาดว่าเดือนกันยายน 2566 เป็นต้นไป

          กรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษีในประเทศไทย กำหนดให้สถาบันการเงิน ต้องรายงาน บัญชีของลูกค้า (บุคคลที่มี ถิ่นที่อยู่ทางภาษี ในประเทศตามความตกลงพหุภาคี MCAA CRS) ให้กับกรมสรรพากร จากนั้นกรมสรรพากรจะแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวกับประเทศอื่นๆ ที่เป็นรัฐคู่สัญญากับประเทศไทยต่อไป โดยนำส่งข้อมูลเป็นประจำรายปี ทั้งนี้ เพื่อยกระดับความโปร่งใสในการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศไทย ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีจากการโยกย้าย เงินหรือสินทรัพย์ทางการเงินไปยังต่างประเทศ

          ดังนั้น หากเราทำธุรกรรม การเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร หรือ การเปิดบัญชีเพื่อการลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ เช่น กองทุนรวม หรือซื้อประกันชีวิต เราจะต้องกรอกแบบฟอร์มรับรองตัวตน (Self-certification) ซึ่งสถาบันการเงินดังกล่าวจะจัดเตรียมไว้ โดยจะต้องกรอก ชื่อ ที่อยู่ ประเทศที่เกิด ประเทศถิ่นที่อยู่ทางภาษี หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เพื่อระบุถิ่นที่อยู่ทางภาษี เพิ่มเติม จากเอกสารเปิดบัญชีทั่วไป สถาบันการเงินจึงจะสามารถทำการเปิดบัญชีให้เราได้ แต่หากเราเคยทำธุรกรรมอยู่แล้ว ถือเป็นลูกค้าปัจจุบัน สถาบันการเงินอาจมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์สถานะของบัญชีที่เกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ทางภาษี แต่ในกรณีที่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอันทำให้ข้อมูลที่เคยให้ไว้ไม่ถูกต้องกระทบต่อการให้ข้อมูลตามหลัก CRS ก็ต้องกรอกแบบฟอร์มรับรองตัวตนใหม่เช่นเดียวกัน ในการนี้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ถือเป็นผู้ทำหน้าที่รายงาน มีหน้าที่จัดให้ลูกค้าแจ้งและยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ทางภาษีทุกครั้งที่มีการเปิดบัญชีทางการเงินใหม่หรือทำธุรกรรมเพิ่ม ตามแบบฟอร์มรับรองตัวตน (Self-certification) และตรวจสอบว่ามีข้อมูลใดอยู่ในข่ายต้องรายงานจะต้องทำการรวบรวม และนำส่งกรมสรรพากรต่อไป

          ประเทศไหนบ้างที่ต้องมีการส่งข้อมูลระหว่างกัน?  ปัจจุบันประเทศที่เข้าร่วมความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Information: MCAA CRS) มีประเทศภาคีทั้งหมด 120 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2566, กรมสรรพากร) ตัวอย่างประเทศสมาชิกแถบเอเชีย เช่น จีน  ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย และสิงค์โปร์  เป็นต้น

          สรุปสาระสำคัญ CRS ประกอบด้วย สถาบันการเงิน (Reporting Financial Institutions) จะรายงานข้อมูลบัญชีการเงิน (Financial Accounts) ของลูกค้าของสถาบันการเงิน (Reportable Persons) ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (ยกเว้น บริษัทที่มีการซื้อ/ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ/บริษัทในเครือ หน่วยงานรัฐ องค์การระหว่างประเทศ ธนาคารกลาง) ที่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในรัฐคู่สัญญาของไทย (รัฐบาลต่างประเทศ หรือหน่วยงานต่างประเทศที่ได้ทำความตกลงหรืออนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรกับรัฐบาลไทยหรือสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย หรือที่เป็นภาคีตามความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี) โดยสถาบันการเงินจะ ตรวจสอบข้อมูลลูกค้า (Due Diligence) ตามเกณฑ์ที่ต้องรายงาน และรวบรวม ข้อมูลที่ต้องรายงาน นำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับรัฐคู่สัญญา

          แล้วคำว่า “ถิ่นที่อยู่ทางภาษี” ที่เราต้องแจ้งต่อสถาบันการเงินคืออะไร เราจะทราบได้อย่างไร? หากเราเป็นคนไทยมีรายได้แค่ในประเทศไทย ก็ระบุง่ายๆ ว่า ถิ่นที่อยู่ทางภาษี คือ ประเทศไทย แต่สำหรับคนไทยที่มีรายได้จากต่างประเทศ หรือคนต่างชาติ อาจมีถิ่นที่อยู่ทางภาษี มากกว่า 1 ประเทศ โดยหลักการ CRS ให้สามารถพิจารณาได้ดังนี้

  1. ข้อบ่งชี้ถิ่นที่อยู่ (Identification) เช่น ใบรับรองความมีถิ่นที่อยู่ / เอกสารระบุตัวตนออกโดยรัฐ
  2. ที่อยู่ตามไปรษณีย์/ที่พักอาศัยปัจจุบัน
  3. หมายเลขโทรศัพท์ในรัฐคู่สัญญา (กรณีไม่มีในประเทศไทย)
  4. คำสั่งโอนเงินเป็นประจำโดยอัตโนมัติ เข้าบัญชีที่เก็บรักษาอยู่ในรัฐคู่สัญญา
  5. คำสั่งมอบอำนาจ/อำนาจการลงลายมือชื่อให้แก่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐคู่สัญญา
  6. คำสั่งของผู้เก็บไปรษณีย์ไว้ให้ (Hold mail Instruction) / ที่อยู่ผู้รับไปรษณีย์แทน (In care of address)

          สำหรับข้อมูลที่ลูกค้าต้องระบุ ในแบบฟอร์มรับรองตนเอง ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ ประเทศถิ่นที่อยู่ทางภาษี หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี วันเดือนปีเกิด และประเทศ/สถานที่เกิด (ถ้ามี) อื่นๆ และข้อมูลที่สถาบันการเงิน ต้องรายงานเพิ่ม : ได้แก่ ชื่อ และหมายเลขระบุตัวตนของสถาบันการเงิน และข้อมูลบัญชีทางการเงินของลูกค้า ได้แก่ เลขที่บัญชี ยอดเงินในบัญชี หรือมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ ดอกเบี้ยที่ได้รับ หรือผลประโยชน์อื่นใด

          เมื่อลูกค้ากรอกแบบฟอร์มรับรองตัวตน สถาบันการเงินจะตรวจสอบข้อมูลลูกค้า (Due Diligence)

          โดยแบ่งบัญชีลูกค้า เป็น 2 กลุ่ม คือ บัญชีที่เปิดอยู่แล้ว (Pre-existing Account) และบัญชีใหม่ (New Account) ทั้งนี้ บัญชีใหม่ของปี 2566 จะเริ่มในหรือหลังจากวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้

          สำหรับปี 2566 (ปีแรก) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จะเริ่มให้นักลงทุนทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เปิดบัญชีใหม่ หรือทำธุรกรรมใหม่ กรอกแบบฟอร์มรับรองตนเอง (Self-certification) นับแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ คาดว่าภายในเดือนสิงหาคม 2566 นี้

          สำหรับนักลงทุนบางราย อาจคุ้นเคยกับการให้ข้อมูลลักษณะนี้ เนื่องจากมีการให้ข้อมูลแบบเดียวกันในกรณีของ FATCA (Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) เป็นกฎหมายของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลของสหรัฐฯ ที่ทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ) สำหรับพลเมืองสหรัฐฯ ทั้ง CRS หรือ FATCA  ต่างเป็นข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี อันเนื่องจากหน่วยงานจัดเก็บภาษีไม่สามารถทราบรายได้ที่แท้จริงของคนประเทศตนเองในต่างประเทศได้ แต่ FATCA เป็นข้อตกลงเฉพาะประเทศไทยกับสหรัฐฯ เน้นเฉพาะผู้ถือบัญชีสัญชาติอเมริกัน (U.S. Citizen) ในประเทศไทย และส่งให้เฉพาะสหรัฐฯ  ขณะที่ CRS ขอข้อมูลและรายงานข้อมูลผู้ถือบัญชีที่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษี (Tax Resident) ในรัฐคู่สัญญาพหุภาคีของประเทศไทย ซึ่งบุคคลหนึ่งรายก็อาจมีถิ่นที่อยู่ทางภาษีหลายประเทศได้เช่นกัน

          ทั้งนี้ บทความข้างต้น เป็นการอัพเดทข่าวสารล่าสุดให้กับท่านนักลงทุน อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ทำการรวบรวมนี้ยังไม่ถือเป็นบทสรุปจนกว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องจะผ่านการพิจารณาและประกาศใช้ ดังนั้นเรายังคงต้องติดตามความคืบหน้า และบทสรุปกันอีกครั้งค่ะ

 

แหล่งที่มาของข้อมูล :

  • มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Common Reporting Standard : CRS) การประชุมเชิงปฏิบัติการ RD Workshop for FI วันที่ 25, 31 พ.ค. 2565 และ 2 มิ.ย. 2565 จัดทำโดย ศูนย์ปฏิบัติการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และกองกฎหมาย กรมสรรพากร
  • ร่างกฎกระทรวงออกตามความพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566
  • ร่างพระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตาม ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร

 

โดย  คุณปิ่นสุดา ภู่วิภาดาวรรธน์
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ
        สายวางแผน เทคโนโลยีและปฏิบัติการ
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด