COO Talk ตอน “ประเด็นที่ต้องรู้! ในการเทรดคริปโต เสียภาษียังไง?”

17 พฤษภาคม 2565

          “ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)” เป็นประเด็นร้อนแรงที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในช่วงต้นปี 2565 เนื่องจาก 1-2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตเป็นอย่างมาก จากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท และมูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 9,600 ล้านบาท กลายเป็น 114,539 ล้านบาท ในด้านของจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการก็เติบโตกว่า 10 เท่า โดยเพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนราย เป็น 1.98 ล้านราย รวมถึงวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการทำธุรกรรมต่าง ๆ มีความหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากตลอดเวลา นอกจากนี้ จากรายงาน Digital 2022 Global Overview Report ซึ่งเป็นรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในยุคดิจิทัลระดับโลก จัดทำโดย We Are Social และ Hootsuite ประจำปี 2022 พบว่าคนไทยมีสัดส่วนต่อประชากรของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นผู้ถือครองคริปโตมากเป็นอันดับ 1 ของโลก

          ดังนั้น กฎหมายการเก็บภาษีคริปโต จึงเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเรียกเก็บภาษีการเทรดคริปโตโดยคำนวณจากผลกำไรที่เกิดขึ้น และไม่สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบได้ รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูล และแสดงรายการตอนยื่นภาษีว่าจะมีวิธีการจัดเก็บและการแสดงรายการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

          เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวกรมสรรพากรจึงได้มีการพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษี และจัดทำการรับฟังความเห็น (Public Hearing) กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเปิดรับการแสดงความคิดเห็น จนได้ข้อสรุปและมีการแก้ไขกฎหมาย โดยนักลงทุนสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไรที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกันได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวช่วยลดผลกระทบต่อนักลงทุนคริปโตในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

          

          ทั้งนี้ ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้รับการผ่อนปรน สำหรับธุรกรรมที่ทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการสร้างทางออกให้กับผู้ลงทุนและใช้งานเหรียญคริปโต และสนับสนุนให้เกิด Exchange ที่ถูกต้องภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)

          ส่วนในอนาคต การเก็บภาษีคริปโต จะให้ Exchange เป็นผู้หักภาษี และนำส่งกรมสรรพากร รวมถึงจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษีคริปโตเป็น Transaction Tax หรือไม่ กรมสรรพากรจะพิจารณาหารือร่วมกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เชิงนโยบายในอนาคต เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่านผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange เป็นผู้หัก และนำส่งกรมสรรพากร การเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction Tax) สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมและบริบทต่าง ๆ โดยรอบอีกครั้ง

          กรมสรรพากรได้มีการเผยแพร่คู่มือการชำระภาษีของผู้มีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้เข้าใจง่ายและสามารถยื่นภาษีได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ทุกท่านสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ ตามลิงค์นี้ https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/lorkhor/information/manual_crypto_310165.pdf

          *ขอบคุณข้อมูลอิงอ้างจาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/news/2565thai/news16_2565.pdf

 

 

โดย  คุณปิ่นสุดา ภู่วิภาดาวรรธน์
        Chief Operating Officer
        สายวางแผน เทคโนโลยีและปฏิบัติการ​