COO Talk ตอน รู้จัก “ภาษีขายหุ้น” ใครบ้าง? ที่ต้องจ่าย..!!

16 กุมภาพันธ์ 2566

          ในที่สุด ปี 2566 นี้ "ภาษีขายหุ้น" (Financial Transaction Tax) หรือภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะถูกนำมาเริ่มเก็บอีกครั้ง!! หลังจากที่ได้รับการยกเว้นเป็นระยะเวลายาวนานมากว่า 31 ปี (ตั้งแต่ปี 2534)

          เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบที่จะให้จัดเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งถ้ามีการออกเป็นกฎหมายและประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีระยะเวลาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม และนักลงทุนได้ทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงประมาณ 90 วัน ซึ่งก็คาดว่า “การจัดเก็บภาษีขายหุ้น น่าจะเริ่มในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม 2566” เป็นต้นไป

          แน่นอนว่า..การเก็บภาษีขายหุ้นครั้งนี้ อยู่ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของนักลงทุนส่วนใหญ่ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต่างก็ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ขายหุ้นแล้วจะได้กำไร หลายครั้งก็เป็นการขายเพื่อตัดขาดทุน (Cut Loss) หรือขายเพื่อปิดสถานะการลงทุน ซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าว จะทำให้ต้นทุนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สูงขึ้น และไม่เพียงแต่จะส่งผลกับนักลงทุนไทยเท่านั้น ยังอาจส่งผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจย้ายไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่นแทน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยได้ อีกทั้ง มีนักวิชาการให้ความเห็นเพิ่มว่า “การจัดเก็บภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายหุ้น (Capital Gains Tax) น่าจะตรงประเด็นมากกว่า”

          อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง ได้ออกมาให้เหตุผลว่า “การเก็บภาษีขายหุ้น จะเป็นการเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้” ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพมากขึ้น หากย้อนกลับไปดูปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2534 มีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ประมาณ 9 แสนล้านบาท มาถึงปี 2565 มูลค่าตลาดเพิ่มเป็น 20 ล้านล้านบาท ทางกระทรวงการคลังจึงมีความมั่นใจว่า การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในช่วงนี้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับหลักสากลในหลายๆ ประเทศ

 

          แล้ว “ภาษีขายหุ้น” เค้าคิดยังไง?

          การเก็บภาษีขายหุ้น จะเก็บจากนักลงทุนเมื่อมีการขายหุ้นออกมา ไม่ว่าผู้ขายจะได้กำไร หรือขาดทุน ก็จำเป็นต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าที่ขาย โดยในปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายจะลดอัตราภาษีลงให้ครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจึงแบ่งการจัดเก็บภาษีเป็น 2 ช่วง

 

          

          ยกตัวอย่างเช่น เมื่อขายหุ้นมูลค่า 1 ล้านบาท ในวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ก็จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 0.055% ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงิน 550 บาท ส่วนปีต่อ ๆไป (ตั้งแต่ปี 2567) ก็จะจัดเก็บที่ “ล้านละ 1,000 บาท”

          “ภาษีขายหุ้น” ใครบ้างล่ะ? ที่ไม่ต้องจ่าย !!

          หากเริ่มมีการเก็บภาษีขายหุ้นแล้ว จะมีกลุ่มผู้ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานอีกหลายส่วนที่ยังได้รับการยกเว้นภาษีขายหุ้นอยู่ ได้แก่

  1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
  2. สำนักงานประกันสังคม
  3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)
  4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
  5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
  6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund)
  7. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และสุดท้าย
  8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคม หรือ กองทุนตามข้อ 3 – 7 เท่านั้น

          ดังนั้นแล้ว สำหรับกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทย แม้จะมีต้นทุนจากภาษีขายหุ้นดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะกองทุนรวมจะเน้นการลงทุนในระยะปานกลางถึงยาว และเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้ลงทุน

          แหล่งที่มา: www.rd.go.th

 

โดย  คุณปิ่นสุดา ภู่วิภาดาวรรธน์
        Chief Operating Officer
        สายวางแผน เทคโนโลยีและปฏิบัติการ​