COO Talk ตอน “ลงทุนในกองทุนรวดเร็วและปลอดภัยด้วย e-KYC”

8 กันยายน 2564

          ในยุคที่เทคโนโลยีทวีความสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา การลงทุนในกองทุนรวมสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสะดวกมากขึ้นผ่านช่องทาง Online โดยโหลดแอพพลิเคชั่นบนมือถือหรือเข้า Website ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) หรือตัวแทนขายหน่วยลงทุน เช่น ธนาคาร ,บริษัทหลักทรัพย์ หลายท่านอาจสงสัยว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินนั้นมีความปลอดภัยรัดกุมเพียงพอหรือไม่ ดิฉันขอมาแชร์ข้อมูลให้ฟังกันค่ะ

          เมื่อผู้ลงทุนสนใจลงทุนในกองทุนรวม หากยังไม่เคยเป็นลูกค้าของ บลจ.นั้นมาก่อน มาเริ่มกันที่การสมัครเปิดบัญชีกองทุนใหม่ ซึ่งในอดีตวิธีการเปิดบัญชีจะเป็นแบบพบเห็นหน้า (Face-to-Face) โดยลูกค้าจะต้องเดินทางไปที่สำนักงานของ บลจ. หรือตัวแทนขาย เพื่อกรอกแบบฟอร์มคำขอเปิดบัญชีกองทุนพร้อมยื่นเอกสารหลักฐานแสดงตน โดยเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานจะมีหน้าที่ตรวจสอบว่าบุคคลที่มาเปิดบัญชีเป็นบุคคลเดียวกันกับบุคคลในเอกสารหลักฐานแสดงตนหรือไม่ ซึ่งเป็นกระบวนการรู้จักลูกค้า (Know Your Customer : KYC) เพื่อป้องกันการทุจริตจากการปลอมแปลงหรือใช้ข้อมูลบุคคลอื่นมาทำธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนเป็นการป้องกันการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายสูง (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) อีกด้วย

          ปัจจุบันลูกค้าสามารถเปิดบัญชีกองทุนในรูปแบบไม่พบเห็นหน้า (Non Face-to-Face) ผ่านช่องทาง Online เช่น เปิดบัญชีผ่านแอพพลิเคชั่น SCBAM Fund Click E-Account Opening ซึ่งใช้เทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการรู้จักลูกค้าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know Your Customer : e-KYC) ด้วยการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มกลาง คือ National Digital Identity (NDID) เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) โดยอาศัยข้อมูลที่ลูกค้าเคยพิสูจน์และยืนยันตัวตนกับธนาคารต่างๆ ไว้แล้ว หากลูกค้ายังไม่เคยสมัครใช้บริการ NDID ก็สามารถสมัครได้ที่สาขาธนาคารพร้อมยื่นบัตรประจำตัวประชาชน เจ้าหน้าที่ธนาคารจะกรอกข้อมูลลงในระบบ ถ่ายรูป และนำบัตรประจำตัวประชาชนไปเสียบเข้าเครื่องอ่านบัตร หรือที่เรียกว่า Dip Chip เพื่อตรวจสอบสถานะของบัตร และใช้ข้อมูลที่อ่านได้ในการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าตามกระบวนการ KYC และให้ลูกค้าเปิดใช้บริการ Mobile Banking ที่ผูกกับ NDID หรือหากลูกค้าใช้บริการ Mobile Banking เป็นประจำอยู่แล้ว ในบางธนาคารก็มีบริการลงทะเบียนยืนยันตัวตนผ่านทางแอพพลิเคชั่น Mobile Banking ของธนาคารนั้นๆ ด้วยขั้นตอนง่ายๆ ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการกรอกข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน แล้วยืนยันตัวตนด้วยระบบจดจำใบหน้าจากถ่ายรูป Selfie ใบหน้าของลูกค้าเอง และในอนาคตลูกค้าสามารถนำบัตรประชาชนไป Dip Chip พร้อมถ่ายรูปเพื่อยืนยันตัวตนผ่านตู้ Kiosk หรือ Counter Services ต่างๆ ที่อยู่ใกล้บ้าน ข้อมูลยืนยันตัวตนนั้นก็จะถูกเชื่อมต่อเข้ามาใช้เปิดบัญชีกองทุนได้เช่นเดียวกัน

          

          โดยกระบวนการข้างต้น หน่วยงานทางการได้กำหนดให้วิธีการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวจะต้องมาจากผู้ให้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นไปตามมาตรฐานของระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ทำธุรกรรมในระบบเป็นลูกค้าจริง ซึ่งเทคโนโลยีระบบ Digital ID เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่เชื่อมต่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกันเพื่อยกระดับกระบวนการยืนยันตัวตนให้มีความมั่นคงปลอดภัย ลดการปลอมแปลงตัวตน เพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการในการให้บริการต่างๆ ของทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต่อประชาชน ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงการคลังได้ร่วมกันพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา

          การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการแก่ลูกค้าได้สะดวกรวดเร็วและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายตาม Lifestyle ในยุคดิจิทัล ปัจจัยที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ซึ่งบริษัทเราได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติของความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไว้อย่างรัดกุม สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลของทางการ และ Best Practice โดยครอบคลุมทั้งด้านอุปกรณ์, ซอร์ฟแวร์, การจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูล, กระบวนการ บุคลากร การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM) ด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ รวมถึงการซักซ้อมรับมือภัยคุกคามด้านไซเบอร์ (Cyber Exercise) เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

สุดท้ายดิฉันขอฝากคำแนะนำในการใช้บริการต่างๆ ผ่านช่องทาง Online ดังนี้

  • ไม่ขอยืมหรือให้ผู้อื่นยืมใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนตัว รวมถึงไม่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สาธารณะในการใช้บริการ online เพราะข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการใช้บริการ Online ต่างๆ อาจถูกบันทึกเก็บไว้ในเครื่อง  และอาจถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยผู้ไม่ประสงค์ดี
  • การตั้งรหัสผ่าน ต้องให้ยากต่อการคาดเดา โดยไม่ควรใช้ข้อมูลส่วนตัวในการตั้งรหัสผ่าน เช่น วันเดือนปีเกิด เลขบัตรประชาชน เบอร์มือถือ แนะนำให้ตั้งรหัสผ่านที่คิดค้นขึ้นใหม่ที่รู้เฉพาะตัวคุณเท่านั้น รหัสผ่านควรมีความยาวอย่างน้อย 8 ตัวอักษร ประกอบด้วยตัวอักษร ตัวเลข เครื่องหมายหรืออักขระพิเศษ
  • ระมัดระวัง Email หลอกลวง โดยเฉพาะการขอให้กรอกบัญชีผู้ใช้งาน, รหัสผ่าน, ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลสำคัญทางการเงิน รวมถึงการให้คลิก Link ที่แนบมา เพื่อหลอกขโมยข้อมูลของคุณไปใช้โดยกลุ่มมิจฉาชีพ
  • ติดตั้งและปรับปรุงโปรแกรมเพื่อการรักษาความปลอดภัยที่เครื่องคอมพิวเตอร์ และ/หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงที่ใช้เป็นช่องทางในการใช้บริการ Online ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
  • ใช้บริการแจ้งเตือนการทำธุรกรรมทาง SMS และหมั่นตรวจสอบความถูกต้องของรายการธุรกรรมอย่างสม่ำเสมอ
  • Log out ออกจากระบบทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน เพื่อป้องกันการสวมรอยเข้าใช้ระบบ
  • หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจ ควรติดต่อผู้ให้บริการ Online ที่ใช้บริการอยู่โดยทันที

 

โดย  คุณปิ่นสุดา ภู่วิภาดาวรรธน์
        Chief Operations Officer​
        สายวางแผน เทคโนโลยีและปฏิบัติการ​