CMO Talk : เรื่องเงินเรื่องง่าย...สไตล์ DCA

17 ธันวาคม 2563

       การลงทุนนั้นเป็นดั่งเส้นทางสู่ความมั่งคั่ง การเริ่มต้นดี ตั้งต้นเร็ว และเป็นตามแผนย่อมช่วยให้ถึงเส้นชัยได้ตามที่ตั้งใจไว้เสมอ แต่เรื่องจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป การลงทุนไม่ได้หมายความว่าจะได้กำไรตลอด มันอาจจะเสียหายขาดทุนก็ได้ วิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้เราลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไปสู่เส้นทางความมั่งคั่งในอีกวิธีหนึ่ง คือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (Dollar Cost Average หรือ DCA) นั่นเอง

       หลักการของ Dollar Cost Average เป็นลักษณะการลงทุนแบบถ่วงน้ำหนัก โดยการปรับต้นทุนให้ต่ำลงในช่วงเวลาที่มีความผันผวน ด้วยวิธีการลงทุนจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละเดือนหรือในความถี่ตามระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อลงทุนแบบ DCA แล้ว จะได้รับหลักทรัพย์จำนวนมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลาที่ได้ลงทุนด้วยเงินจำนวนเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ได้ราคาต้นทุนแบบถัวเฉลี่ย จึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้กำไรสูงสุด แต่ก็ไม่มีทางขาดทุนแบบกู่ไม่กลับ ที่สำคัญยังช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนอย่างหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญและกองทุนรวมหุ้นได้เป็นอย่างดี ดังนั้น DCA จึงเป็นอีกวิธีการซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ได้ผลดีมากอีกวิธีหนึ่ง เพราะเป็นลักษณะของการผสมผสานของการออม การลงทุน และการสร้าง Passive Income ผ่านระยะเวลาที่ยาวนานพอที่เราจะลดความเสี่ยงของการลงทุนได้

       

       

       ปัจจุบันวิธีการลงทุนแบบ DCA ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิธีการลงทุนที่สะดวก ซึ่งก่อนเริ่มลงทุน เราควรทำความเข้าใจลักษณะการลงทุนแบบ DCA ให้ดีและสำรวจตัวเองดูว่า เราเหมาะกับการลงทุนด้วยวิธีนี้หรือไม่ โดยมีข้อควรรู้สำหรับมือใหม่ที่จะวางแผนการลงทุนแบบ DCA ง่าย ๆ คือ ต้องแน่ใจว่าเราสามารถลงทุนได้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ต้องกำหนดระยะเวลาการลงทุนที่แน่นอน ต้องกำหนดจำนวนเงินลงทุนเท่า ๆ กันทุกงวด ต้องมีใจเข้มแข็ง ไม่หวั่นแม้สภาวะตลาดผันผวน และต้องลงทุนระยะยาว เพื่อรักษาถัวเฉลี่ยต้นทุนและลดความเสี่ยง

       ผมขอยกตัวอย่างขั้นตอนการลงทุนแบบ DCA ในกองทุนลดหย่อนภาษี เพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ ดังนี้

  1. เริ่มจากการเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับเรา พร้อมทั้งศึกษาข้อมูล เช่น กองทุนลงทุนในตราสารประเภทใด มีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด
  2. วางแผนจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี โดยจัดสัดส่วนเฉลี่ยการลงทุน เช่น ต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อน RMF และ SSF ประเภทละ 120,000 บาท สามารถแบ่งลงทุนเป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท เป็นต้น
  3. กำหนดวันทำรายการซื้อในแต่ละเดือน เช่น ทุกวันที่ 10 หรือวันเงินเดือนออก เพื่อจดจำง่ายขึ้น
  4. ลงทุนเดือนละครั้ง หรือตามความถี่ที่กำหนดไว้แต่แรก โดยไม่ต้องสนใจราคาขึ้นลงของกองทุน
  5. ข้อนี้สำคัญที่สุด คือ ต้องมีวินัย อดทน และใจนิ่ง ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

       การลงทุนแบบ DCA นอกจากไม่จำเป็นว่าจะต้องลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่แล้ว ยังช่วยเฉลี่ยต้นทุน และลดความเสี่ยงจากการเข้าลงทุนผิดจังหวะในช่วงที่ตลาดการลงทุนผันผวน ทั้งยังเป็นตัวช่วยให้เราออมอย่างมีวินัยและสม่ำเสมอซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนที่พอใจได้ในอนาคต โดยการลงทุนในรูปแบบนี้เหมาะกับผู้เริ่มลงทุนที่ยังมีทุนไม่มากนัก ต้องการทยอยลงทุนและต้องการผลตอบแทนมากกว่าการฝากออมทรัพย์ ผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวเนื่องจากไม่เวลาติดตามข่าวสารมากนัก รวมถึงมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุน SSF-RMF เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยไม่ต้องควักเงินก้อนลดหย่อนภาษีช่วงปลายปี

       อย่างไรก็ตาม การลงทุนทุกประเภทนั้นมีความเสี่ยงเสมอ ยิ่งเสี่ยงมากยิ่งได้ผลตอบแทนมากอย่างที่เรามักได้ยินคำว่า “High Risk High Return” แต่ความเป็นจริงนั้นในบางครั้งการลงทุนก็อาจเจอ "High Risk No Return" ได้เช่นกันหรืออาจจะขาดทุนด้วยซ้ำ แต่อย่าได้กังวลใจตราบใดที่เหรียญยังสองด้านการลงทุนก็เช่นกัน ซึ่งนอกจากการลงทุนแบบ DCA ที่จะช่วยกระจายการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยแล้ว การศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน และการลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้แต่ละบุคคลก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงด้วย

       อย่ากลัวที่จะลงทุน เพราะการไม่ลงทุนนับว่าเป็นความเสี่ยงกว่าแน่นอนครับ

 

โดย คุณอาชวิณ อัศวโภคิน​
        Chief Marketing Officer สายการตลาดและช่องทางการขาย
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด