CIO Talk ตอน “ทิศทาง และนโยบายอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทย”

31 ตุลาคม 2565

          กระแสความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้า

          ​อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่จากรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) โดยจากรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ระบุว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2564 เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากปี 2563 มาอยู่ที่ 6.6 ล้านคัน โดยประมาณร้อยละ 50 ของยอดขายทั่วโลกมาจากประเทศจีน ตามมาด้วยตลาดฝั่งยุโรป และตลาดสหรัฐอเมริกา  นอกจากนั้นหลายประเทศทั่วโลกยังได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และตั้งเป้าหมายการใช้งานรถยนต์อนาคตภายใต้คอนเซปมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission vehicles: ZEVs) ภายในปี 2573 โดยประเทศสหราชอาณาจักร ยุโรป สิงคโปร์ นอร์เวย์ เดนมาร์ค และไอซ์แลนด์ ตั้งเป้ารถยนต์ที่ออกขายใหม่ในตลาดทั้งหมดจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า  ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น และจีนตั้งเป้าที่คล้ายคลึงกันเอาไว้ในปี 2578  (อ้างอิงจาก Global EV Outlook 2021, International Energy Agency)

          ​ความพร้อม และแนวทางในการผลักดันไทยสู่สังคมยานยนต์ไร้มลภาวะ?

          ​ในฐานะฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ภาครัฐมีการออกมาตรการและปรับปรุงนโยบายเพื่อช่วยผลักดันการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทเพื่อสนับสนุนและให้บรรลุเป้าหมายตามแผน ZEV 30@30 ที่จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในแต่ละปี หรือ 7.5 แสนคัน ภายในปี 2573 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทที่สำคัญของอาเซียนและเพื่อให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ซึ่งในปัจจุบันมีค่ายรถที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนร่วมลงนามกับกระทรวงการคลังเพื่อรับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีตั้งฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมากหลาย อาทิ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) เซี่ยงไฮ้มอเตอร์ที่เป็นผู้ผลิต MG SAIC Motor และรายล่าสุดคือ BYD ผู้ผลิตรถ EV อันดับที่ 5 ของโลก

          ​ประการแรก มาตรการส่งเสริมการลงทุนสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ ที่มีการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ และมาตรการทางภาษีที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาที่ถูกลง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น ภาพใต้เงื่อนไขว่าบริษัทรถยนต์ที่นำเข้า ต้องมีแผนผลิต EV ในประเทศไทยเพื่อชดเชยการนำเข้าภายใน 2 ปี ซึ่งจะต้องผลิตชดเชยในอัตราส่วน 1 คันต่อ 1.5 คันโดยการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อชดเชยการนำเข้า 1.5  คัน ดังนั้นในอนาคตจึงนับเป็นโอกาสที่ดีของผู้บริโภคที่มีโอกาสซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง และมีแบรนด์ให้เลือกซื้อที่หลากหลายมากขึ้น

          ​ประการที่สอง การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของคณะรัฐมนตรีอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในแง่ของทำเลที่ตั้งเนื่องจากเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนภูมิภาคอาเซียนที่เชื่อมต่อไปยังเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆ ส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบัง - ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด การเร่งให้เกิดการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การอนุมัติสร้างศูนย์กลางธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุนของกลุ่มยานยนต์ อันเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ EEC

          ​ประการที่สาม แรงงานฝีมือและความชำนาญของประเทศไทยมีความครอบคลุมในทุกขั้นตอนของการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ คาดการณ์ว่าในปี 2564 ร้อยละ 61 ของแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง ปวช. ขึ้นไป (อ้างอิงจาก BOI brochure 2015) นอกจากนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยังได้ออกมาตรการ Long – Term Resident Visa: LTR Visa เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูงเข้ามาในประเทศ อนึ่งทางผู้ประกอบการเองก็มีโปรแกรมการฝึกอบรมพนักงานเพื่อช่วยปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันร่วมกับมหาวิทยาลัย29แห่งและสถาบันอื่นๆ

 

          

          สถานการณ์ Charging Station ในประเทศไทย ณ ปัจจุบันมีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

          ​การกระจายตัวของจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งที่ปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นและช่วยเติมเต็ม ecosystem ของยานยนต์ไฟฟ้าในไทยให้สมบูรณ์ จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ระบุว่า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 มีจำนวน 944 สถานี ซึ่งเกือบครึ่งกระจายตัวอยู่ในเขต กทม. และปริมณฑลเป็นหลัก ขณะที่สถานีน้ำมันและแก๊สทั่วประเทศไทย มีจำนวนเกือบ 3 หมื่นสถานี หรือมีมากกว่าสถานีชาร์จไฟฟ้าประมาณ 30 เท่า แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าปริมาณสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะปรับตัวขึ้นตามปริมาณ EV ที่มีเพิ่มขึ้นในท้องตลาด

          ​แนวโน้มของการลงทุนสถานีชาร์จ EV ในประเทศไทยเติบโตดีขึ้น โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้ตั้งเป้าส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge จำนวน 4,400 เครื่อง ภายในปี 2568 และจะเพิ่มเป็น 12,000 เครื่อง ภายในปี  2573 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งเมืองใหญ่ พื้นที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก และพื้นที่ชุมชน เพื่อรองรับนโยบายตามแผน ZEV 30@30  และในช่วงที่ผ่านมามีหลายบริษัทได้มีการลงทุนมากขึ้น อาทิ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. ที่ร่วมมือกับบริษัท บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด ขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า ในศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัลรวม 400 ช่องจอด ภายในสิ้นปี  2565 หรือกระทั่ง บริษัทโตโยต้า ประกาศลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและตั้งเป้ายอดขายที่ 3.5 ล้านคันต่อปี ภายในปี 2578

          ​นอกจากในฐานะผู้บริโภคแล้ว ในฐานะนักลงทุนในตลาดทุนเองควรเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโอกาสการลงทุนในธีมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ทางบลจ.ไทยพาณิชย์เองได้เปิดโอกาสให้นักลงุทนที่สนใจสามารถลงทุนผ่านทางกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Electric Vehicles and Future Mobility (SCBEV) ซึ่งคัดสรร ETF ที่ลงทุนในอุตสาหกรรม EV ครอบคลุมประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตในอุตสาหกรรม อาทิ จีน สหรัฐอมริกา และ เยอรมัน เป็นต้น

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        Chief Investment Officer สายการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​