CIO Talk ตอน ปัจจัยชี้เศรษฐกิจ-ความท้าทายการลงทุนครึ่งหลังปี ’23

26 กรกฎาคม 2566

          ภาพรวมการลงทุนในครึ่งปีแรกตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี ปรับตัวขึ้นกว่า 12.8% โดยได้ปัจจัยหนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะความแข็งแกร่งในภาคบริการที่ได้ปัจจัยหนุนจากตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ในฝั่งเอเชียการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาดเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจโลกในช่วงต้นปี ปัจจัยถัดมาได้แก่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED เริ่มลดความเร็วในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง แม้ว่าในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 จะมีเหตุการณ์ความกังวลในภาคธนาคารโดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กภายหลัง Silicon Valley Bank ต้องปิดกิจการ อย่างไรก็ดี FED ได้กลับมาอัดฉีดสภาพคล่องอีกครั้ง ส่งผลให้ภาวะทางการเงิน ( Financial Condition) กลับมาผ่อนคลาย หนุนให้ตลาดหุ้นโดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ และกลุ่มเทคโนโลยี ปรับตัวขึ้นกว่า 15.9% และ 39.1% ตามลำดับ นอกจากนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็เป็นอีกตลาดที่ปรับขึ้นกว่า  27.2% จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวตามหลังภูมิภาคอื่น และธนาคารกลางญี่ปุ่นเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องต่อเนื่อง สำหรับตลาดหุ้นเอเชียผลตอบแทนค่อนข้างมีความต่างกันมากโดยประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงได้แก่ ไต้หวันและเกาหลี ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 19.6% และ 14.7% โดยแรงหนุนสำคัญมาจากวัฏจักรเซมิคอนดักเตอร์ใกล้จุดต่ำสุด และกฎหมายสนับสนุนของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงในช่วง -0.8% ถึง - 4.2% เนื่องจากความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ และจีนมียังมีความเข้มข้นต่อเนื่อง

          

          แนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังยังมีหลายปัจจัยที่ยังต้องจับตาและมีความท้าทายต่อการลงทุนอย่างยิ่ง ปัจจัยแรกคือ สภาพคล่องในตลาดการเงินจะเริ่มลดลงอย่างชัดเจนมากขึ้น  จากสถานการณ์ธนาคารขนาดเล็กในสหรัฐเริ่มผ่อนคลาย ปริมาณเงินฝากในภาคธนาคารเริ่มมีเสถียรภาพ โดยคาดว่า FED จะกลับมาเดินหน้าลดสภาพคล่องที่ยังมีอยู่สูงมาก เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางยุโรปที่มีแผนจะเร่งลดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังมีแผนจะเร่งออกพันธบัตรรัฐบาลมาดูดซับสภาพคล่องในตลาดเพิ่มอีกกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ปัจจัยถัดมาคือแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่โดยรวมแล้ว ยังมีแนวโน้มชะลอตัว ความเสี่ยงการเกิดภาวะถดถอยก็ยังสามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนอาจจะกลับมากังวลจากนโยบายการเงินที่อาจจะมีความเข้มงวดอย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายธนาคารกลางมาก อีกทั้งความแข็งแกร่งของภาคครัวเรือนลดลงโดยเฉพาะในสหรัฐที่อัตราการออมได้ปรับตัวลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว นอกจากนี้ ปัญหาในภาคธนาคารส่งผลให้การขยายสินเชื่อมีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังคงมีความเสี่ยงถูกปรับลดเป้าหมายลง ภาพรวมการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ อาจจะส่งผลให้สินทรัพย์ลงทุนมีความผันผวนสูงขึ้น ดังนั้น การควบคุมความเสี่ยงผ่านการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ สินทรัพย์จึงยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะกลับมาให้ผลตอบแทนดีต่อเนื่อง เมื่อ FED หยุดการขึ้นดอกเบี้ย หรือ สินค้าโภคภัณฑ์เช่น ทองคำ ซึ่งมักจะให้ผลตอบแทนดีในภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็เป็นการป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจปรับตัวแย่กว่าคาดได้ดี สำหรับการลงทุนในตราสารทุนนั้น ควรมีการกระจายการลงทุนและเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลประกอบการบริษัทยังมีแนวโน้มขยายตัวในภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว เช่น กลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมักจะให้ผลตอบแทนดีในภาวะอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านจุดสูงสุด ขณะกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าสามารถรักษาอัตราการทำกำไรระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง จากความสามารถในการลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญบ่งชี้ว่าวัฎจักรของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์จะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป โดยในระยะถัดไปอุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงวัฏจักรที่สำคัญจากการประยุกต์นำ AI มานำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าในหลายๆ ด้าน ที่นอกจากกลุ่มเทคโนโลยีจะได้ประโยชน์จากการค้นพบแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ จะเป็นอีกอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากกระแสนี้ในระยะยาว ทั้งนี้อีกตลาดที่อาจจะกลับมาให้ผลตอบแทนดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีได้แก่ตลาดหุ้นไทย โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญจะมาจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า ขณะที่หากการจัดตั้งรัฐบาลผ่านไปได้ด้วยดีคาดว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มจะทยอยปรับตัวดีขึ้น การลงทุนในช่วงที่เหลือของปีจะยังมีความท้าทายอยู่มากจากภาพรวมเศรษฐกิจที่คาดเดาได้ยากว่าจะเป็นเพียงแค่การชะลอตัวหรือจะเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงการที่สภาพคล่องในตลาดโลดลดลงก็อาจมีผลให้สินทรัพย์การลงทุนมีความผันผวนสูงขึ้น ดังนั้น การลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        Chief Investment Officer สายการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​