CIO’s Talk ตอน “สภาวะตลาดกับการลงทุนในยุคผันผวน”

20 กันยายน 2562

          สวัสดีค่ะท่านนักลงทุนทุกท่าน เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีหมูกันแล้วนะคะ ความกังวลและความผ่อนคลายในหลายตลาดได้กลับมาสร้างความคึกคักและความผันผวนให้กับการลงทุนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายจนในบางครั้งต้องติดตามกันเป็นรายวัน หรือจะเป็นเรื่องของ Brexit ซึ่งดูเหมือนจะมี deadline ใหม่เข้ามาเรื่อยๆ แม้กระทั่งในโลกของการเมืองและความขัดแย้งในหลายภูมิภาค เช่น อิหร่าน หรือการประท้วงในฮ่องกงเองก็ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยเพียงพอที่จะสร้าง volatility ของ asset classes ต่างๆ ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

          ณ เวลานี้คาดว่าทุกท่านคงได้ยินมาบ้างแล้วถึงการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาประกาศ surprise ตลาดอีกครั้งผ่าน Twitter โดยเสนอต่ออายุของเส้นกำหนดการขึ้นภาษีจากจีนออกไปอีก 15 วัน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการร่วมยินดีกับงานฉลองครบรอบวันเกิด 70 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนหน้านี้ โดยทางฝ่ายจีนเองก็ตอบรับการประกาศดังกล่าวทันควันโดยการเสนอพิจารณาผ่อนปรนการเก็บภาษีสินค้าบางรายการทันทีเช่นกัน

          ในสภาวการณ์ดังกล่าวเราได้เห็น momentum ของพัฒนาการจากความขัดแย้งระหว่างสองชาติมหาอำนาจกลับสู่แนวทางที่ดีขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ยังควรตระหนักถึงลักษณะของเหตุการณ์ดังกล่าวในช่วง 3 - 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการกลับลำไปมาของสหรัฐฯ ก็ได้สร้างความวิตกกังวลสลับกับความผ่อนคลายให้กับนักลงทุนได้ปวดหัวอยู่เป็นระยะๆ มาตลอด

          นอกเหนือจากความขัดแย้งกับจีนแล้ว รัฐบาลของทรัมป์ยังคงสร้างสีสันให้กับตลาดน้ำมันดิบโลกอีกครั้งจากข่าวเรื่องการสั่งปลดนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติแบบฟ้าแลบ และตัดสินใจเสนอการเจรจาในประเด็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและพลังงานนิวเคลียร์ และเมื่อหันมามองอีกด้านของมหาสมุทรแอตแลนติก เราก็จะได้เห็นความน่าปวดหัวในลักษณะเดียวกันของกรณี Brexit โดยการลาออกจากตำแหน่งของนางเทเรซ่า เมย์ และการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นนายบอริส จอห์นสัน ผู้เป็นตัวหลักของการสั่งปิดรัฐสภาชั่วคราวโดยอาศัยอำนาจของสมเด็จพระราชินี ความวุ่นวายดังกล่าวถือว่าเป็น overhang สำคัญที่ประวัติศาสตร์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังไม่มีใครทราบว่าจะลงเอยเช่นใด

          เราอาจจะกล่าวได้ว่าในโลกแห่งการลงทุนปัจจุบันนั้นความไม่แน่นอนก็คือความแน่นอนอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นก็ตามมาด้วยคำถามที่สำคัญกว่าที่ว่าเราจะวางแผนจัดการการลงทุนของเราให้มีผลการดำเนินการอยู่ในระดับพึงพอใจท่ามกลางสภาวการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร แต่เมื่อมองเข้าไปในปีช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้านั้น การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนดูเหมือนจะยังยึกยักต่อไปเรื่อยๆ ในกรณีเลวร้ายแต่ละฝ่ายก็ยังพร้อมที่จะตอบโต้ด้วยมาตรการกำแพงภาษี ซึ่งก็จะทำให้มีผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยเมื่อมอง valuation ตลาด เช่นในสหรัฐฯ เองนั้น หากการขึ้นภาษีเกิดขึ้นจริง ผลประกอบการของบริษัทหลักๆ ในตลาดก็อาจโตช้าลงอย่างมีนัยยะสำคัญก็เป็นได้ ซึ่งก็ย่อมจะสร้างความกังวลว่าตลาดสหรัฐฯ นั้นซึ่งมี P/E สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตโดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 16 - 17 เท่า ในขณะที่ดัชนี S&P500 ทยอยทำ new highs ที่เหนือระดับ 3,000 จุดอย่างต่อเนื่องนั้น หากว่าผลประกอบการมีการชะลอตัวแล้วก็อาจทำให้ตลาดเกิดการปรับฐานก็มีความเป็นไปได้สูง

          การมองหาตลาดโดยใช้กลยุทธ์ value ในการเฟ้นหาตลาดที่อาจยังมิได้ปรับตัวขึ้นมามากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มชาติพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นยุโรป หรือญี่ปุ่น ในช่วงนี้จึงดูมี downside ที่น้อยกว่าในขณะที่มีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องที่ออกมาอย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายน (และคาดว่าในเดือนตุลาคมสำหรับญี่ปุ่น) และอาจมีความคุ้มค่าที่จะเข้าเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในบางจังหวะที่ตลาดปรับตัวลดลงได้ เป็นต้น

          แล้วพบกันใหม่เดือนกันยายนค่ะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน สายการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด