CIO’s Talk ตอน “แนวโน้มการลงทุน ครึ่งปีหลัง 2022”

20 กรกฎาคม 2565

          สวัสดีท่านนักลงทุนทุกท่านค่ะ  สำหรับปี 2022 นี้ถือเป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมาก แม้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจะไม่ได้มีความรุนแรงมากนักและหลายๆ ประเทศสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อกลับเร่งตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนจากความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ Stagflation โดยสาเหตุหลักของเศรษฐกิจชะลอตัวมากจากหลายปัจจัย เริ่มจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วกำลังจะหมดแรงไป ขณะที่การขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตยังคงเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าคาด เนื่องจากการกลับมาระบาดเพิ่มขึ้นของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน ซึ่งเป็นฐานสำคัญสำหรับห่วงโซ่การผลิต และปัญหายังถูกซ้ำเติมจากราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้น เนื่องจากสถานการณ์สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่มีความยืดเยื้อ นอกจากนี้สภาพคล่องในตลาดยังมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นด้วย โดยธนาคารกลางทั่วโลกกำลังทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ จากสภาวะตลาดดังกล่าวจึงส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นโลกปรับลดลงกว่า 20.9% นำโดยตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีระดับราคาค่อนข้างสูงกว่าตลาดอื่นๆ ปรับลดลง 21.2% และ 29% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ก็ปรับลดลงค่อนข้างมากที่  18.8% เช่นกันนอกจากตราสารทุนแล้วตราสารหนี้ก็มีความผันผวนเช่นกัน นำโดยหุ้นกู้เอกชนชั้นดี และหุ้นกู้คุณภาพต่ำ ปรับลดลงตั้งแต่ 13.8 – 14.9% แม้แต่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ปรับตัวลดลง 10.4% อย่างไรก็ดีในภาวะเงินเฟ้อที่สูงก็ยังมีสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้แก่ น้ำมัน และหุ้นกลุ่มพลังงาน ที่ปรับขึ้น 40.6% และ 29.2% ตามลำดับ

          

          สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังนั้น แนวโน้มเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพิจารณาลงทุน ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะชะลอตัวลงหลังผ่านพ้นไตรมาส 3 แต่ระดับของอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังยืนเหนือเป้าหมายของธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลกอย่างมาก  ดังนั้นนโยบายการเงินของธนาคารกลางเหล่านี้จะยังให้น้ำหนักที่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด นักวิเคราะห์คาดว่า ณ สิ้นปี 2022 เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปถึง 3.25-3.75% จาก 1.75 % ในเดือนมิถุนายน และการปรับขึ้นในแต่ละรอบมีโอกาสที่จะสูงถึงระดับ 0.75 - 1.0% ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและแรงกว่าภาวะปกติ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในอดีตที่เกิดขึ้น 11 รอบที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1960 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ถึง 8 ครั้ง โดยมี 3 ครั้งที่เป็นเพียงภาวะชะลอตัว ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่สูงมากนัก ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง และเข้าสู่ภาวะถดถอยยังมีอยู่สูง และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนยังคงให้ความสนใจ อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดหุ้นปัจจุบันได้ปรับตัวลงสะท้อนความเสี่ยงจากเศรษฐกิจตกต่ำและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปแล้วระดับหนึ่ง โดยการปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระดับ 20% ถือว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของการปรับฐานในช่วงขาลง ขณะที่มูลค่าพื้นฐาน (Valuation) ลดลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว อย่างก็ดีการปรับฐานของตลาดหุ้นอาจจะสูงกว่า -30% หากภาวะเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และความเสี่ยงถัดไปคือการปรับประมาณการผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ตลาดหุ้นจึงยังมีโอกาสผันผวนได้สูงต่อไป ดังนั้นพอร์ตการลงทุนในภาวะเช่นนี้มีความจำอย่างมากในการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวม และอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง โดยสินทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดโดยรวมได้แก่

          1. สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีในสภาวะอัตราเงินเฟ้อสูง ยกตัวอย่างเช่น สินค้าโภคภัณฑ์ และ สินทรัพย์ทางเลือกเช่นโครงสร้างพื้นฐานโลก อีกทั้งซึ่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังเป็นสินทรัพย์ที่ได้ปัจจัยหนุนจากอุปทานที่หายไปจากสถานการณ์สงครามที่อาจมีความเยือเยื้อ ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานจะได้รับกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ

          2. อุตสาหกรรมที่มีผลประกอบการไม่ผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น สินค้าจำเป็น และการแพทย์ (Healthcare) เนื่องจากผลประกอบการมีความผันผวนต่ำในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยกลุ่ม Healthcare นอกจากอัตราการทำกำไรจะสูงในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว ต้นทุนจากในการดำเนินกิจการยังได้รับผลกระทบต่ำจากการปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และราคาพลังงาน เป็นต้น

          3. ตลาดที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังการระบาดของเชื้อโควิดมีแนวโน้มลดลง และเริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการเดินทาง (Reopening)  โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียน, จีน และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น REITs มีโอกาสที่จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและผลประกอบการขยายตัวดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ

          4. หนึ่งในสินทรัพย์ที่ช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนคือตราสารหนี้ แต่การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง และธนาคารกลางยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น พอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้ยังมีความจำเป็นต้องเน้นที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นและพันธบัตรรัฐบาล เพื่อให้ผลตอบแทนทยอยปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และควรเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนเนื่องจากผลตอบแทนอาจมีความผันผวนสูงในช่วงที่สภาพคล่องในตลาดปรับลดลง และความเสี่ยงด้านเครดิตในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง

          แม้ว่าการลงทุนในครึ่งปีหลังจะยังมีความท้าท้ายอยู่มาก และตลาดหุ้นคาดว่าจะยังมีความผันผวนได้สูง เนื่องจากเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศ และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจะช้าหรือเร็ว อ้างอิงจากข้อมูลในอดีตมักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการหดตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีความแข็งแกร่งอยู่ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยรุนแรงอาจไม่สูงมากนัก ทำให้คาดว่าตลาดหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่าหลายวิกฤตที่ผ่านมา ทั้งนี้จากข้อมูลการลงทุนในอดีตนับตั้งแต่ปี 1962 การเข้าลงทุนหลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาแล้วมากกว่า 20% พบว่า 8 ใน 11 ครั้ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้ผลตอบแทนเป็นบวก และผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 15% จึงสามารถบอกได้ว่าในทุกๆ วิกฤตที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมากก็จะตามมาด้วยโอกาสการลงทุนเสมอ ท้ายสุดนี้ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และขอให้มีสุขภาพแข็งแรงนะคะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        Chief Investment Officer สายการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​