CIO’s Talk ตอน “เมื่อธนาคารกลางเฟดเริ่มส่งสัญญาณ Hawkish”

20 กรกฎาคม 2564

          สวัสดีค่ะ ปีนี้นับว่าเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของการลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยง โดย 6 เดือนแรกตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทนกว่า 11.4% และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนสูงถึง 14.4% โดยตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ ที่มี 2 ปัจจัยหลักสำคัญที่สนับสนุนเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพและการกระจายของวัคซีน ที่ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน และจำนวนประชากรที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ปรับลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้แม้จะมีความเสี่ยงของการระบาดของเชื้อกลายพันธ์ เช่น ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันของสหรัฐฯ ก็ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ และ 2) หลังการเลือกตั้งที่พรรคเดรโมแคตชนะการเลือกตั้งทั้งสองสภา ปูทางให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินกว่า 2 ล้านๆ ดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจอย่างมาก

          ถึงแม้ว่าในไตรมาสที่ 2 อาจจะเป็นจุดสูงสุดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ในช่วงที่เหลือของปียังคงมีปัจจัยที่จะส่งให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นจากมาตรการผ่อนคลาย Lock down เพิ่มเติม ทำให้ความต้องการแรงงานปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากส่งผลให้ค่าจ้างยังคงปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยอัตราการออมที่สูงมากในปัจจุบันคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าจะยังคงมีแนวโน้มเร่งตัวต่อได้หลังความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มีปัจจัยทางด้านสินค้าคงคลังที่ลดลงต่อเนื่องในบางอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ และบ้าน จะส่งผลให้ต้องกลับมาเร่งการผลิตสินค้าเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี การกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ ก็มาพร้อมกับระดับราคาหรืออัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัว ซึ่งอาจมีผลกดดันต่อตลาดการเงินเช่นเดียวกัน โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ของสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นกว่า 5.5% YoY โดยการเร่งตัวขึ้นมานั้นส่วนหนึ่งมาจากค่าที่พัก และตั๋วเครื่องบินที่พลิกฟื้นมาหลังสถานการณ์การระบาดใหญ่เริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกันกับราคารถยนต์ใหม่และรถยนต์มือสอง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต เป็นต้น ทั้งนี้ถึงแม้ว่าหลาย ๆ ปัจจัยข้างต้นดูเหมือนจะเป็นปัจจัยเร่งชั่วคราว และอัตราเงินเฟ้อถูกคาดหวังว่าจะทยอยปรับตัวลงในระยะถัดไป แต่สิ่งที่จะยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวอยู่ คือ ความคาดหวังต่อระดับราคาที่คาดว่าจะสูงกว่าช่วง 2019-2020 จะเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการเร่งบริโภค และอัตราเงินเฟ้อจะยังมีแนวโน้มเข้าใกล้เป้าหมายของธนาคารกลาง (Fed) ที่ระดับ 2% 

          จากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เร่งตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในตลาดแรงงานและการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนั้น ส่งผลให้เฟดเริ่มปรับเปลี่ยนท่าทีหลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในเดือนมิ.ย. ครั้งแรก โดยเฟดมีท่าทีใช้นโยบายทางการเงินแบบตึงตัว (Hawkish) มากขึ้นโดยได้ยกเลิกคำกล่าวที่อ้างอิงถึงวิกฤตสาธารณสุขที่กำลังดำเนินอยู่ออกจากถ้อยแถลง และค่าปรับกลาง Dot plot (ค่าประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต) โดยคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ในช่วงสิ้นปี 2023 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าการประชุมในเดือนมี.ค. ที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปี 2023 ซึ่งเป็นการบอกเป็นนัยว่านโยบายการเงินกำลังจะก้าวออกจากการตอบสนองต่อวิกฤตเศรษฐกิจ โดยนโยบายการเข้าซื้อสินทรัพย์ หรือ Quantitative easing (QE) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของเฟดในการรับมือวิฤตในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้นักลงทุนได้คาดหวังว่า เฟดจะเร่งส่งสัญญาณชะลอนโยบายการเข้าซื้อสินทรัพย์ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้และคาดว่าจะเริ่มทยอยลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ตั้งแต่ต้นปี 2022 เป็นต้นไป

          อย่างไรดี แม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ American Rescue Plan ด้วยวงเงินกว่า 1.9 ล้านๆ ดอลลาร์ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เริ่มใช้ตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา และกำลังจะหมดอายุในไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งหากการหมดอายุลงของมาตรการต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อการจัดหางาน การเติบโตของงานและค่าจ้าง ก็อาจยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อแนวทางดำเนินนโยบายของเฟดในช่วงปลายปีได้เช่นกัน

          สำหรับผลกระทบต่อสินทรัพย์การลงทุนนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในอดีตช่วงเดือน พ.ค. 2013 จากการที่เฟดได้ส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่องหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวจาก Global Financial Crisis นั้น พบว่าผลตอบแทนตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะมีความผันผวนต่ำกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่มาก โดยหลังจากเฟดส่งสัญญาณลดการอัดฉีด QE นั้น ดัชนี S&P500 ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดที่ประมาณ -5.7% และฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยสามารถกลับไปทำจุดสูงสุดใหม่ได้ในอีกไม่ถึง 1 เดือนต่อมา เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีความแข็งแกร่งอย่างมาก ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในสภาวะชะลอตัว ตลาดหุ้นจึงได้รับผลกระทบมากกว่าโดยปรับตัวลดลงกว่า 16.7% และใช้เวลามากกว่า 1 ปีในการฟื้นตัวกลับสู่จุดเดิม ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ก็มีความผันผวนเพิ่มขึ้นมากโดยเร่งตัวขึ้นกว่า 1.0% สู่ระดับ 2.99% หลังการส่งสัญญาณของเฟด ส่วนผลตอบแทนตราสารหนี้ยังคงมีความผันผวนอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

          หากเปรียบเทียบกับสภาวะในปัจจุบัน เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่องในปี 2021-2022 เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ซึ่งคาดว่าการกระจายวัคซีนจะเร่งตัวเร็วขึ้นตามหลังประเทศพัฒนาแล้ว จะส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ดี ดังนั้นตลาดหุ้นอาจจะไม่ได้ผันผวนแรงเท่ากับช่วงปี 2013 ขณะที่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 1.2% สู่จุดสูงสุดที่ประมาณ 1.80% ในเดือน เม.ย. และทยอยปรับตัวลดลงแม้เฟดจะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นก็ตาม ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนได้คาดการณ์นโยบายของเฟดไว้แล้วระดับหนึ่ง ดังนั้นความผันผวนอาจจะไม่ได้สูงมากเมื่อเฟดเริ่มส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่องจริง

          ทั้งนี้ หากตลาดหุ้นมีความผันผวนจากการส่งสัญญาณลดสภาพคล่องของเฟด คาดว่าจะเป็นโอกาสเข้าลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดหุ้นสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้หากภาพรวมเศรษฐกิจยังขยายตัวดีเอื้อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอ ท้ายที่สุดก็ขอให้นักลงทุนทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุน โดยหัวใจสำคัญในการลงทุน คือ กระจายการลงทุน และประเมินระดับการยอมรับความเสี่ยงของตัวเราเองเสมอ และขอให้มีสุขภาพที่ดีทุกท่านนะคะ

 

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        Chief Investment Officer สายการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​