CIO Talk ตอน ปัจจัยลงทุนที่ต้องจับตาช่วงโค้งสุดท้ายปี 2023

19 ตุลาคม 2566

          สวัสดีค่ะ นักลงทุนทุกท่าน เส้นทางการลงทุนของปีนี้กำลังเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายแล้ว หลังจากที่เดือน ก.ย. ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลง สอดคล้องกับสถิติ 10 ปีย้อนหลัง ที่ตลาดหุ้นหลายแห่งมักจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นลบ แต่จากสถิติเดียวกันนี้ ก็บ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ในช่วงเดือน ต.ค. และ พ.ย. เช่นกัน ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ต่าง ๆ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี แนะนำให้นักลงทุนติดตาม 5 ข้อนี้

  1. นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) การส่งสัญญาณที่ค่อนข้างตึงตัว (Hawkish) ของ Fed ในการประชุมเมื่อเดือน ก.ย. ที่เปิดเผยว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตหรือ Dot Plot ยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง เป็น 5.50-5.75% ในการประชุม 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ ซึ่งแตกต่างจากมุมมองของนักลงทุนในตลาด ผ่าน CME FedWatch Tool ที่เชื่อว่า Fed จะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ย. และ ธ.ค.ปีนี้ ขณะที่แนวโน้มปี 2024 แม้มีการส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยผ่าน Dot Plot แต่ก็มีการขยับค่ากลางของคาดการณ์ดอกเบี้ยขึ้นมาจากรายงานเมื่อเดือน มิ.ย. ประมาณ 50bps แนวโน้มดอกเบี้ยแบบนี้ เรียกว่า “Higher for Longer” นั่นคือ วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแต่จะถูกคงไว้ระดับสูงต่อไปอีกสักระยะ และการปรับลดดอกเบี้ยก็จะยังไม่เกิดขึ้นเร็ววันนี้ ซึ่งนั่นจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจจะทรงตัวในระดับสูงต่อไป ทั้งนี้ การส่งสัญญาณ Hawkish ของ Fed มีส่วนผลักดันให้ดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนผ่าน US Dollar Index แข็งค่าขึ้นราว 3.2% ในช่วง 3Q23 เป็นลบต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มักจะเคลื่อนไหวสวนทางกับ Dollar Index
  2. การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (US 10-year Treasury Yield) ขึ้นแตะระดับ 4.80% สูงสุดในรอบ 16 ปี ด้วยแรงขับเคลื่อนหลายปัจจัย เช่น นโยบายการเงินของ Fed และภาวะดอกเบี้ยแบบ Higher for Longer ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลด้านอุปสงค์-อุปทาน ที่มี Demand ลดลง จากการที่ Fed ดึงสภาพคล่องออกจากระบบด้วยนโยบาย Quantitative Tightening (QT) ทำให้ความต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลลดน้อยลงไป ขณะที่ ฝั่ง Supply มีเพิ่มขึ้น เพราะกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เร่งปริมาณการออกพันธบัตรมากขึ้น การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของ Bond Yield ทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นมีความน่าสนใจเชิง Valuation น้อยลง เมื่อเทียบกับตราสารหนี้อย่างพันธบัตรรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป น่าจะเริ่มเห็น Bond Yield ชะลอการปรับขึ้นหรือเริ่มปรับลง ตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นนี้น่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นได้ด้วยเช่นกัน
  3. ความเสี่ยงของการปิดหน่วยงานราชการสหรัฐฯ (Government Shutdown) แม้ว่า สภาคองเกรสสหรัฐฯ สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณได้ทันกำหนดเส้นตาย แต่เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวให้หน่วยงานราชการมีงบประมาณใช้จ่ายได้อีกจนถึงช่วงกลางเดือน พ.ย. หมายความว่า ความเสี่ยงของ Government Shutdown จะถูกหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้งในไตรมาส 4 ปีนี้ ในขณะที่ การถูกโหวตออกจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของคุณ Kevin McCarthy จะเพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมือง และความซับซ้อนของการเจรจาระหว่างพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต
  4. ราคาน้ำมันดิบ WTI ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วราว 29% ในช่วง 3Q23 จากระดับประมาณ US$70/bbl ขึ้นทะลุ US$90/bbl  จากแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาวะอุปทานที่ตึงตัวขึ้น และจากที่ผู้ผลิตรายใหญ่ คือ ซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย พร้อมใจกันขยายระยะเวลาลด Supply ไปจนถึงสิ้นปี 2023 การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันครั้งนี้ นอกจากจะมีผลกระทบทำให้ต้นทุนพลังงานภาคการผลิตและขนส่งของหลายอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ในด้านนโยบายการเงินเอง ก็อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นแรงกดดันหลักเมื่อปีที่แล้วกลับมาสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนในตลาดอีกรอบ และอาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ ที่กำลังจะชะลอหรือหยุดขึ้นดอกเบี้ย จะหันกลับมาใช้นโยบายตึงตัวอีกครั้ง ทั้งนี้ ราคาน้ำมันมีความอ่อนไหวกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ หากมีความเสี่ยงเรื่องนี้เข้ามา ราคาน้ำมันก็มีโอกาสเคลื่อนไหว ผันผวนแรงด้วยเช่นกัน
  5. การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน หนึ่งสิ่งที่น่าจะสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนในปีนี้ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ที่แม้ว่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวได้ค่อนข้างแรงช่วงประมาณ 2 เดือนแรกของปี แต่หลังจากนั้น โมเมนตัมกลับอ่อนแรงลง ด้วยแรงกดดันจากปัญหาภาคอสังหาฯ ที่ยืดเยื้อ, ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแรงลง และการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนออกมาสู่ตัวเลขดัชนีชี้นำเศรษฐกิจทั้งภาคผลิตและภาคบริการที่ชะลอตัวลงและต่ำกว่าคาด จากที่สำนักวิจัยหลายแห่งที่เคยมองบวกค่อนข้างมากต่อ China Reopening ในช่วงก่อนหน้า ก็ได้มีการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลงมาใกล้เคียงกับระดับ 5% ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลจีนในปีนี้ เศรษฐกิจจีนที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ส่งผลกระทบทางอ้อมมาสู่ประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจค่อนข้างมากกับจีน ทั้งในด้านของการเป็นคู่ค้าระหว่างประเทศ และภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ด้วยความคาดหวังของนักลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ หากมีประเด็นข่าวบวกเข้ามา เช่น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาครัฐ ก็มีโอกาสที่บรรยากาศการลงทุนจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ด้วยเช่นกัน

          

          หากมองไปในระยะข้างหน้า ความท้าทายยังคงมีอยู่ แต่ก็มีโอกาสของการลงทุนด้วยเช่นกัน ซึ่งยังเชื่อว่าการลงทุนระยะยาวจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนในระยะสั้น นอกจากนี้ การวางแผนการลงทุนด้วยความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ รวมถึง การจัดพอร์ตลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง จะช่วยให้นักลงทุนรับมือกับสถานการณ์การลงทุนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

          บลจ.ไทยพาณิชย์ มีผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้นักลงทุนมีทางเลือกสำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนได้ตามเป้าหมายและแผนการลงทุนที่แตกต่างกัน นักลงทุนที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.scbam.com หรือสอบถามข้อมูลกองทุนและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการที่ บลจ.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBAM Client Relations โทร. 02 777 7777

          สุดท้ายนี้ ขอให้นักลงทุนทุกท่านประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และมีความสุขกับการลงทุนตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องจนถึงปีหน้านะคะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        Chief Investment Officer สายการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​