CIO’s Talk ตอน “ไม่ง่าย แต่ก็ยังลงทุนได้”

19 เมษายน 2565

          สวัสดีวันปีใหม่ไทยท่านนักลงทุนทุกท่านนะคะ พร้อม ๆ กับเวลาที่เปลี่ยนไปโจทย์ของการลงทุนก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน หากเพียงเราย้อนไปดูในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด, การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี (Digital Disruption), ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks), ภาวะเงินเฟ้อ โดยหลายปัจจัยเป็นสิ่งที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ค่อนข้างยาก แต่ดิฉันเชื่อว่า แม้มีความไม่แน่นอนปกคลุมหรือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก โอกาสสำหรับการลงทุนยังคงมีอยู่เสมอ

          ในขณะที่ เศรษฐกิจโลก กำลังฟื้นตัวเข้าใกล้สู่ภาวะปกติ หลังจากเผชิญการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด คือ การใช้กำลังการทหารของรัสเซีย บุกเข้าสู่ยูเครน ซึ่งนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ ยุโรป และประเทศพันธมิตร โดยมีการประเมินว่า GDP โลก จะได้รับผลกระทบประมาณ 1% จากประเด็นรัสเซีย-ยูเครน

          มองที่ประเทศไทย ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย ค่อนข้างจำกัด เพราะไทย ส่งออกไปรัสเซียและยูเครนโดยตรง ค่อนข้างน้อยเพียงแค่ 0.4% ของยอดส่งออกรวมเท่านั้น ส่วนภาคการท่องเที่ยว น่าจะไม่ได้แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

          อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางอ้อม มีความน่ากังวลมากกว่า เพราะก่อนหน้านี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ด้วยผลของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในยูเครน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยิ่งปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะรัสเซีย เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก ทั้งพลังงาน (น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ), โลหะ (เช่น อลูมิเนียม, นิกเกิล, พาลาเดียม), สินแร่ (โพแทช ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของปุ๋ยเคมี) และสินค้าเกษตร (ข้าวสาลี) ซึ่งเราเริ่มเห็นสัญญาณจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ของไทย เดือน มี.ค.2565 ขยายตัวถึง 5.73% YoY เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อประสิทธิภาพในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนและกำลังซื้อของผู้บริโภค

          

          ด้วยแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เร่งเดินหน้าตึงตัวนโยบายการเงินแบบเข้มข้น ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุล โดยเทรดเดอร์ในตลาด คาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ มีโอกาสขึ้นไปถึงระดับ 2.50-2.75% ภายในปีนี้ เมื่อสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีแนวโน้มลดลง ความผันผวนก็ปรากฎขึ้นในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงและตลาดพันธบัตร

          สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ ปรากฏการณ์ Inverted Yield Curve เกิดขึ้นในตลาดพันบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะคู่ 10 ปี - 2 ปีซึ่งนักลงทุนให้ความสนใจค่อนข้างมาก เพราะเชื่อว่า เป็นสัญญาณชี้นำต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือ Recession ในระยะถัดไป จากการศึกษาภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ จำนวน 6 ครั้งในรอบ 44 ปี พบว่า มักมีสัญญาณ Inverted Yield Curve ของพันธบัตรคู่ 10 ปี - 2 ปี เกิดขึ้นก่อนหน้าประมาณ 6 เดือนถึง 16 เดือน แต่ในทางกลับกัน การเกิด Inverted Yield Curve ไม่ได้แปลว่า จะเกิด Recession ตามมาทุกครั้ง ตัวอย่าง เกิด Inverted Yield Curve หลายครั้งในเดือน พ.ค.-ก.ค.2541 หลังจากนั้น ภาวะ Inversion หายไป จนกระทั่งถึงเดือน ก.พ.2543 สัญญาณก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ก่อนที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2544 

          การศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ พบว่า สัญญาณจากพันธบัตรคู่ 10 ปี - 3 เดือน มีความแม่นยำมากกว่าคู่ 10 ปี - 2 ปี ในการทำนายภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 12 เม.ย.2565 บ่งชี้ว่า คู่ 10 ปี - 3 เดือน ยังไม่เกิดสัญญาณ Inverted Yield Curve โดย Yield ของพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่สูงกว่าอายุ 3 เดือน ประมาณ 200bps

          Inverted Yield Curve เป็นเพียงสัญญาณหนึ่ง ไม่ใช่ปัจจัยชี้วัด 100% ว่า จะเกิดภาวะ Recession ตามมาทุกครั้ง ดังนั้น นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไปจนขายสินทรัพย์เสี่ยงออกทั้งหมด แต่ควรพิจารณาสัญญาณอื่น ประกอบ และปรับพอร์ตตามสภาวะเศรษฐกิจ

          ภาวะเงินเฟ้อสูงและการตึงตัวนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นความท้าทายของภาพการลงทุนในไตรมาส 2/2565 แต่นักลงทุนสามารถรับมือด้วยการเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถทนต่อแรงเสียดทานจากสถานการณ์นี้ ได้แก่ กลุ่มที่มีความสามารถในการส่งผ่านต้นทุน, กลุ่มที่ผลประกอบการมีเสถียรภาพ - เติบโตสม่ำเสมอ, กลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก Reopening เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities), กลุ่มการแพทย์ (Health Care), กลุ่มสินค้าจำเป็น-สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Staples) เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดสรรน้ำหนักการลงทุนส่วนหนึ่งในสินทรัพย์ทางเลือก คือ สินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบจากเงินเฟ้อ (Inflation Hedge) เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ท่านนักลงทุนอาจพิจารณาด้วยเช่นกันนะคะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        Chief Investment Officer สายการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​