CIO’s Talk ตอน “ปัจจัยร้อนแรงที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจ”

14 สิงหาคม 2562

          สวัสดีค่ะ ท่านนักลงทุนทุกท่าน ในเวลานี้คาดว่าทุกท่านคงได้ยินมาบ้างแล้วถึงการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาประกาศขึ้นภาษีการค้ากับจีนแบบ surprise ตลาด ตลอดจนการตอบโต้ของธนาคารกลางจีนแบบสมน้ำสมเนื้อในการลดค่าเงินหยวนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์หยวนปรับตัวทะลุระดับ 7.00 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทันทีเพียงชั่วข้ามคืน และเป็นการปรับตัวทะลุระดับ 7.00 หยวนเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษอีกด้วย นอกเหนือจากนี้จีนยังประกาศเพิ่มเติมว่าจะลดการซื้อสินค้าภาคการเกษตรจากสหรัฐฯ โดยมุ่งเป้าไปที่เกษตรกรในแถบ Midwest ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรครีพับลิกันและนายทรัมป์เองอีกด้วย

          ในฝั่งจีน หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่าห่างออกไปทางทิศตะวันออกของมหานครปักกิ่งประมาณ 300 กิโลเมตร ณ เมืองตากอากาศแห่งหนึ่งริมทะเลของมณฑลเหอเป่ย ได้มีการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำระดับสูงของจีนจากทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งก็รวมถึงประธานาธิบดีสีจิ้นตลอดจนนักวิชาการชั้นหัวกะทิ โดยธรรมเนียมซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ในสมัยเหมาเจ๋อตุง การรวมตัวกันดังกล่าวในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี (ยกเว้นในสมัยของประธานาธิบดีหูจิ่นเทา) จะเป็นการทบทวนประเด็นสำคัญต่างๆ ในระดับพรรคยุทธศาสตร์แห่งชาติ

          นอกเหนือจากนี้ “เป่ยไต้เหอ” ยังเป็นเวทีสำคัญที่ผู้นำในปัจจุบันนำแนวทางในการบริหารประเทศของตนมา “โยนหินถามทาง” เพื่อหาความเห็นของนักกลยุทธ์และผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ภายในพรรค โดยในอดีตนั้นการตัดสินใจครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจีน เช่น นโยบายก้าวกระโดด (The Great Leap Forward) ก็เกิดขึ้นจากที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการแห่งนี้เช่นกัน

          ดังนั้นเราอาจจะพอคาดเดาได้ว่าในช่วงปลายเดือนนี้หลังจากการประชุมที่เป่ยไต้เหอเสร็จสิ้นเราคงจะได้เห็น “คำตอบ” ของจีนต่อประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีในการตอบโต้สหรัฐฯ ในเรื่อง Trade War หรือในเรื่องของนโยบายต่อการชุมนุมของผู้ประท้วงในฮ่องกง เป็นต้น

          เมื่อมองไปที่ปฏิทินของเวทีโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้ เวทีสำคัญที่ผู้นำสหรัฐฯ และจีนจะต้องโคจรกลับมาพบกันอีกครั้งก็คือ การประชุม United Nations General Assembly ในเดือนกันยายน และการประชุม APEC Summit ที่ชิลีในเดือนพฤศจิกายน โดยระหว่างนี้ก็จะมีการฉลองสาธารณรัฐประชาชนจีนมีอายุครบ 70 ปี ในช่วงต้นเดือนตุลาคมปีนี้อีกด้วย

          นอกจากประเด็น Trade War ที่เราคงยังต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงไปอีกสักพัก ก็ยังมีประเด็นของทิศทางของธนาคารกลางกับนโยบายการเงินของโลกอีกด้วย โดยในฝั่งของเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นก็ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษเช่นกัน โดยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแม้ว่านายเจอโรม พาวเวลล์ จะออกมาให้สัมภาษณ์เพื่อลดความคาดหวังของตลาดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ควรถูกตีความเป็นจุดเริ่มต้นของวัฎจักรลดอัตราดอกเบี้ย (easing cycle) จากเฟด อย่างไรก็ตามเขาก็ยังคงทิ้งท้ายไว้ว่า “I didn’t say it’s just one (cut)” เช่นกัน โดยการสื่อสารดังกล่าวก็ทำให้ตลาดเริ่มจะลดความคาดหวังของการลดดอกเบี้ยในระยะยาวลงแม้ว่าจะมีการ price-in ไปที่ระดับ 100% ถึงการลดดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในการประชุมรอบเดือนกันยายนเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม

          เราอาจนับได้ว่า ในเดือนสิงหาคมนี้เป็นเดือนแห่ง Surprise  อย่างแท้จริง เพราะเมื่อหันกลับมามองที่นโยบายการเงินของไทยเราเองนั้นล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ประกาศลดดอกเบี้ยแบบผิดคาดกันทั้งประเทศเช่นกัน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งเตือนใจอย่างดีให้กับนักลงทุนทุกท่านถึงสัจจธรรมที่ว่า ”สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือความไม่แน่นอน”อยู่เสมอนะคะ ซึ่งก็รวมถึงโลกแห่งการลงทุน การตระหนักถึงความเสี่ยงของสภาพแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และการปรับพอร์ตการลงทุนของทุกท่านให้ใช้ความเสี่ยงอย่างคุ้มค่าที่สุดอยู่เสมอนะคะ

          แล้วพบกันใหม่เดือนกันยายนค่ะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน สายการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด