CIO’s Talk ตอน “จับตาสภาวะตลาดโลก”

5 มีนาคม 2562

          สวัสดีค่ะท่านผู้ถือหน่วย เผลอนิดก็ใกล้จะจบไตรมาสแรกของปี 2019 แล้วนะคะ ตลาดหุ้นทั่วโลกนับจนถึงปัจจุบันยังนับได้ว่าปรับอยู่ในเกณฑ์ดีและเกินความคาดหวังของหลายๆ ท่านไปมาก  นั่นก็เป็นเพราะปัจจัยความกังวลในตลาดหลายปัจจัยได้มีพัฒนาการออกมาในลักษณะคลี่คลายขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐที่ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้รับบทเรียนสำคัญทางการเมืองไปแล้ว หรือในประเด็นของการเจรจาอย่างเข้มข้นของสหรัฐฯ กับจีนที่ใกล้จะถึงวันครบกำหนดเวลาเข้าไปทุกที เป็นต้น

          นอกเหนือจากนี้แล้ว อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมาจากการให้สัมภาษณ์ในลักษณะ “กลับลำ” ของนายเจโรม พาวล์ ผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ในประเด็นของการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ โดยท่าทีดังกล่าวหรือที่เรียกว่า mid-cycle pause นั้น ถือเป็นการสื่อสารของธนาคารกลางที่นักลงทุนไม่ค่อยได้มีโอกาสได้เห็นนักและนับเป็นเพียงครั้งที่ 4 ในรอบกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในปี 1995 ในสมัยของนายอลัน กรีนสแปนภายใต้ประธานาธิบดีบิล คลินตัน

          การสื่อสารของเฟดดังกล่าวในรอบนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนมความหวังว่าสภาวะตลาดกระทิงซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 2009 และยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์นั้นจะยังคงดำเนินไปต่อและยังไม่ถึง “เฮือกสุดท้าย”ในปีนี้ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวสูงขึ้น 11% นำโดยสหรัฐฯ วัดด้วยดัชนี S&P500 ปรับตัวสูงขึ้น 13%

          ในขณะเดียวกันในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ตลาดหุ้นจีนทั้งในตลาด A share และ H share ปรับตัวสูงขึ้น 24% และ 17% ตามลำดับ ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวดูจะสวนทางกับตัวเลขทางเศรษฐกิจขอจีนที่ทะยอยประกาศออกมา ที่อาจยังดูน่ากังวลไม่ว่าจะเป็นดัชนีชี้วัดการหดตัว/การขยายตัวของเศรษฐกิจ เช่น Purchasing Manager Index (PMI) ซึ่งมีการหดตัวสองรอบติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2016

          นอกจากนี้ ตัวเลขที่นักลงทุนความต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดของจีนก็คือดัชนีเงินเฟ้อผู้ผลิตหรือ Producer Price Index (PPI) ซึ่งล่าสุดตัวเลขเดือนมกราคมได้ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 0.1%  โดยตัวเลขดังกล่าวถือเป็นดัชนีสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดสภาวะ oversupply ในภาคการผลิตของจีน และยังเป็นตัวเลขที่สามารถใช้คาดการ์ณผลกำไรของบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการอุตสาหกรรมหรือ Industrial Profit ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปีนี้อาจเป็นสัญญาณที่สำคัญที่จะตอบคำถามที่ว่าจีนจะเข้าสภาวะ oversupply ดังที่เคยเกิดเป็นปัญหาสำคัญจนรัฐบาลจะต้องนำมาตรการ supply side reform กลับมาใช้อีกครั้งหรือไม่

          ในขณะเดียวกัน แม้ว่าเราจะได้รับกระแสข่าวดีในหลายๆ ภูมิภาค แต่สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นตัวแปรสำคัญ (wild card) ต่อภาวะการลงทุนของตลาดโลกในช่วงต่อจากนี้ก็คือเรื่องของ Brexit ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนนัก แม้ว่าจะเข้าใกล้วันครบกำหนด (เวลา 5 ทุ่มตรงคืนวันที่ 29 มีนาคมนี้ ตามเวลาของอังกฤษ) ในระหว่างนี้ ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่เราต้องจับตาก็คือวันที่ 12 มีนาคมก่อนวัน deadline เพียง 17 วันซึ่งนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีจะนำวาระ Brexit นี้เข้าสู่การพิจารณาครั้งสำคัญ (Meaningful Vote) ในสภาของอังกฤษอีกครั้งและจะเป็นการพิจารณาครั้งสุดท้ายของสภาอังกฤษในประเด็นดังกล่าว หาก(หวัง)ว่าเป็นไปได้ด้วยดี นักลงทุนก็ยังคงต้องรอลุ้นอีกครั้งในวันที่ 21 - 22 มีนาคมในการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปหรือ EU Summit ซึ่งเราน่าจะได้ข้อสรุปเสียที โดยมีความเป็นไปได้ 3 ทางก็คือ Soft Brexit, Hard Brexit และการต่ออายุมาตรา 50 โดยถ้าหากเป็นการต่ออายุ ก็อาจจะเป็นการต่ออายุระยะสั้น หรือแบบ 3 เดือน หรือไปจนถึง 21 เดือน ซึ่งก็จะเป็นช่วงธันวาคม 2020 ก็เป็นได้

          เอาหล่ะค่ะ ท่ามกลางกระแสข่าวดีกับบรรยากาศในการลงทุนของตลาดโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ดิฉันยังอยากที่จะขอเน้นย้ำให้นักลงทุนให้พิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบนะคะ ”สินทรัพย์เสี่ยง” ยังคงมีความเสี่ยงตามชื่อของมันเสมอในทุกสภาวะตลาด ดิฉันอยากให้ท่านนักลงทุนพิจารณาว่าการเพิ่มการลงทุนหรือการเพิ่มความเสี่ยงใดๆ ในพอร์ตของท่านก็ยังควรเป็นการเข้าเสี่ยงในความเสี่ยงที่คุ้มค่าความเสี่ยงอยู่เสมอนะคะ (calculated risk) เพราะเราคงจะได้เห็นภาพของมุมมองตลาดโลกในปีนี้ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังบทละครเวทีที่ทั่วโลกกำลังจับตาดูอยู่นี้จบลงในไม่ช้า

          บทละครที่มีชื่อว่า “The March of  (Theresa) May”

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน สายการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด