SCBAM Market Insight : Report on Dec 21-25, 2020

21 December 2020

“Fed ประกาศว่าจะคงดอกเบี้ยจนถึงปี 2023 และทำ QE ต่อเนื่อง จนกว่าพัฒนาการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะดีขึ้นชัดเจน”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากข่าวดีเรื่องความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ที่ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้วัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNtech สามารถเริ่มแจกจ่ายได้ภายในปลายปีนี้ ประกอบกับธนาคารกลางประเทศหลักยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ในระดับที่สูง แต่นักลงทุนให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามากกว่า นับเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นในระยะนี้

ดัชนี Composite PMI เบื้องต้นเดือน ธ.ค. ของประเทศหลักบางประเทศปรับตัวลดลง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เร่งตัวขึ้นกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นดีกว่าคาด นำโดยสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง -2.9 จุด เป็น 55.7 จุด ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 55.9 ญี่ปุ่นปรับตัวลดลง -0.1 จุด เป็น 48.0 จุด ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด (ภาวะหดตัว) ขณะที่ยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.5 จุด เป็น 49.8 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 45.7 จุด จากภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown มีลดลงเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.

กิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดีต่อเนื่อง จากแรงหนุนของอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศ นำโดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือน พ.ย. ขยายตัว 7.0% YoY เท่ากับที่ตลาดคาด จาก 6.9% ในเดือนก่อน อีกทั้งยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน พ.ย. ขยายตัว 5.0% YoY เท่ากับที่ตลาดคาด จาก 4.7% ในเดือนก่อน สะท้อนกิจกกรมทางเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ในประเทศ โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น

Fed คงดอกเบี้ยที่ 0-0.25% ตามที่ตลาดคาด และประกาศว่าจะคงดอกเบี้ยจนถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อย จนกว่าการจ้างงานเต็มอัตราและเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% และเกินระดับดังกล่าวพอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในขณะที่ปรับเปลี่ยนการส่งสัญญาณการทำ QE โดยระบุจะเข้าซื้อที่อัตราปัจจุบันจนกว่าพัฒนาการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะดีขึ้นชัดเจน หลังจากนั้นคาดว่า Fed จะส่งสัญญาณชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดในอนาคตได้

ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สหรัฐฯ เฝ้าระวังเรื่องการบิดเบือนค่าเงิน “Monitoring List” โดยเบื้องต้นสหรัฐฯจะประเมินว่าเป็นประเทศคู่ค้าที่เข้าข่ายดำเนินการแข่งขันด้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ หรือไม่ ซึ่งจากรายงานล่าสุดมีประเทศคู่ค้าอื่นนอกจากไทยจัดอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และอินเดีย หากไม่สามารถหาข้อกำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกันได้ภายใน 1 ปี จะส่งผลให้สหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการที่นำไปสู่ข้อจำกัดทางการค้า

กลยุทธ์การลงทุน

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นจีน THB เฮ็ดจ์ (SCBCEH)

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ออยล์ (SCBOIL)

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เครดิตออพพอทูนิตี้ (SCBOPPA)