เตรียมพร้อมรับ...วัยเกษียณ

25 September 2015

คำเตือนของหลายๆ หน่วยงานในเรื่องของประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า

ทำให้คนที่อยู่ในวัยทำงาน เริ่มเห็นถึงความสำคัญของการเก็บออมและการบริหารเงินมากขึ้น เพราะเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ

รายได้ประจำที่มาจากการทำงานจะหายไป หากไม่มีเงินเก็บจะอยู่ต่อไปอย่างไรไม่ให้ลำบากเป็นเรื่องที่ต้องขบคิด หากเป็นข้าราชการเมื่อเกษียณยังมีเงินบำเหน็จบำนาญไว้ใช้จ่าย แต่คนทั่วไปหากมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนชราภาพที่เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประกันสังคม ทั้งสองรูปแบบนั้นมีความเสี่ยงตรงที่เงินที่ได้จากกองทุนอาจจะไม่มากพอที่จะใช้ยังชีพในอนาคต การเก็บออมเสริมเข้าไปจึงเป็นทางเลือกที่จะต้องทำ

จากข้อมูลการศึกษาของสถาบันวิจัย 300 แห่ง จาก 50 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2533-

2553 อายุเฉลี่ยของคนทั่วโลกสูงขึ้นจาก 59 ปี เป็น 70 ปี โดยผู้หญิงจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชายเฉลี่ย 5 ปี

รายงานซึ่งตีพิมพ์ในเดอะเวิลด์แฟกต์บุกของซีไอเอ ระบุว่า ประชาชนโมนาโก มีอายุเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก

ที่ 89.68 ปี ตามมาด้วย มาเก๊า ในอันดับที่ 2 ประชากรมีอายุเฉลี่ย 84.43 ปี ญี่ปุ่น อายุเฉลี่ย 83.91 ปี สิงคโปร์ 83.75 ปี และชานมารีโน ประเทศขนาดเล็กซึ่งตั้งอยู่ใกล้อิตาลี รั้งอันดับ 5 ด้วยอายุเฉลี่ย 83.07 ปี สำหรับประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 114 ประชนชนมีอายุเฉลี่ย 73.83 ปี

แม้คนไทยจะมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นจากเมื่อปีก่อน ซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ 73.1 ปี ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา

ประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2553 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 12 และจะเพิ่มถึงร้อยละ 25 ในปี 2573 หรือเท่ากับคนไทยทุกๆ 4 คนจะมีผู้สูงอายุอยู่ 1 คน ปัจจุบันเราใช้เกณฑ์กำหนดอายุ 60 ปีเป็นผู้สูงอายุ เพราะได้นำไปอ้างอิงกับ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งกำหนดให้ข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ หรือทุกๆ วันที่ 30 ก.ย. ของทุกปี ในขณะที่ภาคเอกชนก็ได้กำหนดการเกษียณอายุการทำงานของแรงงานไว้ที่อายุ 55 ปี

แต่การที่คนมีอายุยืนขึ้นเป็นเพราะความเจริญและก้าวหน้าทางการแพทย์มีการค้นคว้าเทคโนโลยีการรักษาโรคที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น โรคบางชนิดที่ที่ยังหาวิธีการรักษาไม่ได้ก็เริ่มทำได้ จนทำให้มีหลายฝ่ายเสนอให้เปลี่ยนคำนิยามของผู้สูงอายุจาก60 ปี เป็น 65 ปี เพราะเห็นว่าสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีขึ้น และยังมีความพร้อมที่จะทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้แม้อายุจะเกิน 60 ปีไปแล้วก็ตาม

ดังนั้น จึงควรเพิ่มโอกาสการทำงานให้แก่ผู้สูงอายุมากขึ้นซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้และเพิ่มระยะเวลาการออมมากขึ้น จึงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่มาสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาบุตรหลานหรือภาครัฐมากนักและยังเป็นการสร้างพลังอำนาจให้แก่ผ็สูงอายุได้อีกด้วย