Mutual Fund's Talk by SCBAM : Dealing with Brexit.

30 June 2016

       หลังจากที่ผลการลงประชามติของประเทศอังกฤษที่จะลาออกจากการเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปเกิดขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจการเงินได้เกิดความผันผวนขึ้นมาอย่างมาก โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมาจนบางแห่งถึงกับเรียกกันว่า Black Friday 

       ตลาดหุ้นของประเทศในยุโรปติดลบมากเกือบ 10% ในขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีในทันที แม้ว่าการขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษ จะมีกระบวนการในทางกฎหมายตามมาอีกไม่น้อยกว่า 2 ปีก็ตาม แต่ผลกระทบกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจริงของประเทศในกลุ่มประเทศยุโรปได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เป็นที่คาดการณ์กันว่า จากนี้ไปนโยบายการเงินของประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วคงจะเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป หรือญี่ปุ่น  โดยสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พูดง่ายๆคือไม่รีบร้อน รอให้ตัวเลขเงินเฟ้อมันชัดเจนมากจึงค่อยขยับ

       ผมมองว่าตลาดตื่นตระหนกเกินเหตุ หรือที่ภาษานักลงทุนเรียกกันว่า over react หรือ over shoot จริงอยู่การออกจากกลุ่มยูโรอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและประเทศในกลุ่มยูโรที่เหลือบ้าง แต่มันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น ถ้าเราหันมาดูข้อมูลก็จะพบว่าทั้ง สวิสเซอแลนด์และนอร์เวย์ก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มยูโร แต่การค้าขาย การทำธุรกรรมต่างๆ การเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศนั้นกับกลุ่มยูโรก็มิได้มีอุปสรรคมากมายแต่ประการใด สิ่งที่ทำร้ายเศรษฐกิจนั้นกลับกลายเป็นการลดลงของมูลค่าตลาดจากความตระหนกและการเทขายของนักลงทุนเอง เพราะมูลค่าตลาดที่ลดลงจะกระทบจิตวิทยาของผู้คนทำให้รู้สึกจนลง ที่เราเรียกกันว่า Negative Wealth Effect และไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยอย่างที่ควรจะเป็น 

       ส่วนธนาคารกลางของยุโรปและญี่ปุ่นก็กำลังพิจารณามาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินของประเทศ ด้วยการดำเนินการขยายปริมาณเงิน หรือดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบต่อ การแข่งขันกันดังกล่าวทำให้ค่าเงินของประเทศตนอ่อนค่า สร้างความได้เปรียบทางการค้ากำลังเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศกำลังพัฒนาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะร่วมวงแข่งขันด้านอัตราแลกเปลี่ยนนี้ และอาจเห็นบางประเทศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินของโลกอีก ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย หรืออินโดนีเซีย เป็นต้น 

       ในขณะที่ประเทศไทยของเรานั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ายังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนของไทยยังอยู่ในสถานะที่แข่งขันได้ และการหดตัวของการส่งออกที่ผ่านมาสืบเนื่องมาจากการลดลงของอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าและบริการของโลกมากกว่าเป็นปัญหามาจากอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงดำรงรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมไว้ก่อนและเก็บนโยบายดังกล่าวไว้ใช้ในยามจำเป็นจริงๆ 

       จากสถานการณ์ที่ผันผวนเช่นนี้ นักลงทุนก็ควรจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนและสถานการณ์ โดยอาจเลือกลงทุนผ่านบริษัทจัดการกองทุนสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีความชำนาญหรือไม่มีเวลาในการบริหารจัดการการลงทุนอย่างใกล้ชิด ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหลายแห่ง ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองลูกค้าที่มีความต้องการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและสามารถลงทุนได้ในระยะยาว โดย บลจ.ไทยพาณิชย์ ก็มีโอกาสได้นำเสนอกองทุนประเภทนี้ด้วยเช่นกัน อาทิ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลอินคัมพลัส (SCBGPLUS) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ อินคัมพลัส (SCBPLUS)เป็นต้น  กองทุนทั้งสองก็สามารถรักษามูลค่าได้ค่อนข้างดีในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวนมากอย่างเช่นกรณี Brexit ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนด้วยนะครับ 

       ส่วนผลการลงประชามติของประเทศอังกฤษกำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และอาจเปลี่ยนแปลงทิศทางของการลงทุนหลังจากนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไปครับ

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด