Mutual Fund's Talk by SCBAM : Quantitative Easing (QE) and Negative Interest Rates.

21 July 2016

       นี่เป็นคำถามที่ผมถามตัวเองและพยายามหาคำตอบมาหลายเดือนแต่ก็คิดไม่ตก จนเมื่อมาได้อ่านบทความของศาสตราจารย์พอล ครูกแมน เรื่อง Cheap Money is Speaking  Very Clearly Right Now ก็เกิดแรงบันดาลใจให้กลับมาคิดอีกครั้งหนึ่ง

       เช่นเดียวกับความสงสัยของผม ครูกแมนก็ตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แม้ว่านักเศรษฐศาตร์บางคนจะต่อว่าธนาคารกลางว่าพยายามทำดอกเบี้ยให้ต่ำเกินจริง แต่ครูกแมนก็เถียงว่าการทำ QE หรือการเพิ่มสภาพคล่องในระบบนั้น ผลที่แท้จริงแล้วต้องมีเงินเฟ้อและในที่สุดก็ต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่นี่หลายธนาคารกลางใหญ่ของโลกแข่งกันทำ QE เป็นล้านล้านเหรียญแต่กลับไม่มีเงินเฟ้อเลย

       ครูกแมนพยายามอธิบายเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่น่าจะเป็น risk off หรือสถานการณ์ที่ตลาดโลกเกิดความตระหนก นักลงทุนกลัวความเสี่ยงและไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากเวลานี้ตลาดก็ไม่ได้แสดงว่ามีความตระหนกอะไร ตลาดหุ้นก็ขึ้น ค่าความเสี่ยงของหุ้นกู้เอกชนก็อยู่ระดับต่ำ หรือว่าเศรษฐกิจโลกจะติดหวัดญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจถดถอย ในสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยต่ำมากๆ และติดลบมาเป็นเวลานาน ครูกแมนก็ไม่ได้ให้คำตอบเพียงแต่แนะนำว่าประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาและเยอรมันน่าจะใช้โอกาสที่ดอกเบี้นต่ำนี้กู้เงินไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เริ่มเก่าทรุดโทรมเพราะสร้างมาตั้งแต่ช่วงปี 1950-1970

       เหตุการณ์ดอกเบี้ยต่ำทำให้เศรษฐกิจโตช้าแบบนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากหรือที่เรียกกันว่า Aging Society ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตุว่าผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่มีความต้องการอยากได้สินค้าต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดตามที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าไว้ ผมลองหันมาสังเกตุคุณพ่อคุณแม่ผมซึ่งท่านอายุกว่า 70 ปี ถามว่าท่านต้องการรถคันใหม่หรือบ้านหลังใหม่หรือไม่ ท่านก็ตอบว่าไม่อยากได้เป็นภาระต้องดูแล รวมถึงโทรศัพท์สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ทีวีความคมชัดสูงสามมิติท่านก็ไม่ต้องการ แม้กระทั่งการรับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารหรูหราท่านก็ไม่อยากไป กลัวอาหารไม่ย่อย เสื้อผ้ากระเป๋ารองเท้าแบรนด์เนมก็ไม่สนใจ  ท่านต้องการเพียงมีเงินบ้างเพื่อใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพ ค่าหมอค่ายาในรักษาพยาบาลและบริการอื่นๆ อีกเล็กน้อยเท่านั้น  ซึ่งปรากฏการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเรา เราจะเห็นผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ขายบ้านหลังใหญ่ย้ายไปอยู่หลังเล็กเมื่อลูกๆ เริ่มเติบโตเพราะดูแลไม่ไหวเช่นกัน 

       แนวคิดนี้โต้แย้งกับพื้นฐานของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือผู้สูงอายุเหล่านี้กลับเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตหรือความมั่งคั่งร่ำรวยในระบบเศรษฐกิจ เมื่อผู้ที่มีกำลังซื้อไม่ต้องการซื้อแต่กลับต้องการเก็บเงินมากกว่าใช้จ่าย เงินที่ธนาคารกลางต่างแข่งกันพิมพ์ออกมาจึงถูกนำกลับไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะผู้สูงอายุเหล่านี้เองก็ไม่ต้องการจะรับความเสี่ยงจากการลงทุนที่หวือหวามากมาย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลนำออกมาก็ไม่ได้ผลเพราะไม่สามารถกระตุ้นความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้ เมื่อเงินจำนวนมากต้องถูกให้ไปซื้อพันธบัตร ราคาของพันธบัตรจึงเพิ่มขึ้นหรือเท่ากับผลตอบแทนดอกเบี้ยลดลง 

       ถ้าเช่นนั้นแล้วผู้สูงอายุเหล่านี้ยังจะเก็บเงินอีกหรือทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยเป็นศูนย์หรือติดลบ  ผมคิดว่าใช่เพราะหากเก็บเงินไว้ทั้งๆ ที่มูลค่าจะลดเหลือน้อยลงสาเหตุจากดอกเบี้ยติดลบ แต่ก็จะทำให้สามารถซื้อสินค้าที่ดีกว่าในอนาคตได้ ลองพิจารณารอบตัวเราดูสิครับ สมมติว่าในวันนี้เราซื้อโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ราคาประมาณ 20,000 บาท แต่หากเราเลือกเก็บเงินแทนแล้วเงินนั้นเหลือเพียงแค่ 19,500 บาทในอีก 2 ปีข้างหน้า ลองนึกดูว่าโทรศัพท์ราคา 19,500 บาทในอีก 2 ปีข้างหน้า จะดีกว่าโทรศัพท์ 20,000 บาทในปัจจุบันหรือไม่  และถ้าเราลองใช้วิธีนี้กับสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ ทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้า สุขภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน อื่นๆ ก็จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายๆ กัน

       การแบ่งแยกทางสังคมระหว่างผู้สูงอายุและคนรุ่นหนุ่มสาวจะรุนแรงมากขึ้น เช่นที่เริ่มปรากฏแล้วในการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษ โดยมาตรการที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมนี้ได้คงต้องเป็นมาตรการที่สามารถถ่ายเทสินทรัพย์จากผู้มีสินทรัพย์แล้วไม่ต้องการใช้ไปสู่ผู้ที่ยินดีทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์นั้น และภาษีใหม่ควรเน้นการเก็บภาษีจากทรัพย์สินที่มีอยู่แทนการเก็บภาษีจากรายได้ (ภาษีเงินได้) หรือการใช้จ่าย (sale tax or VAT) แบบเดิมๆ Value added ที่เกิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากงานบริการควรได้รับการสนับสนุนแทนที่จะไปเก็บภาษีนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด