Worldwide Wealth by SCBAM : If Brexit Occurs Here's How You Should Invest ocks.

16 August 2016

       “หุ้นขึ้นก็ดีใจ หุ้นตกก็กลุ้มใจ ตลาดหุ้นกับความผันผวนแทบจะอยู่เป็นของคู่กัน” อย่างที่นักลงทุนมักจะกล่าวกันติดปากว่า high risk high return หรือแปลเป็นไทยว่า เสี่ยงมากได้มาก (ซึ่งอาจจะเสียมากด้วย) กองทุนรวมส่วนใหญ่ที่มีในตลาดบ้านเราก็เช่นกัน กองทุนหุ้นไทยที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. มักจะเป็นการลงทุนแบบที่เราเรียกว่า Long Only คือ ต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือชี้ชวน ถ้าตลาดดี NAV ของกองทุนก็ขึ้น ถ้าตลาดร่วงหนักๆ NAV ของกองทุนก็ลงไปด้วย หรือถ้าพัฒนาขึ้นมาหน่อยก็จดทะเบียนเป็นกองทุนผสม คือสามารถถือเงินสดหรือตราสารหนี้ได้ เมื่อเวลาตลาดลงก็อาจจะไปถือเงินสดแทนได้ไม่ต้องถือหุ้นตลอดเวลา

       แต่เรื่องจริงก็ไม่มีใครตาทิพย์รู้ล่วงหน้าว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะลง ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพก็เพียงแต่กลับตัวได้เร็วกว่ารายย่อยและต่างชาติ เพราะนั่งเฝ้าอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือการเลือกหุ้นพื้นฐานดี โดยหวังว่าเวลาตลาดขาลงหุ้นที่เลือกไว้จะลงน้อยกว่า เวลาตลาดขาขึ้นหุ้นนั้นก็จะขึ้นมากกว่า แต่ถึงแม้ว่ากองทุนจะชนะตลาดก็ไม่ได้หมายความว่าผลตอบแทนจะเป็นบวกเสมอไป อย่างปี 2558 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงไป 15% ถ้ากองทุนไหนติดลบน้อยๆ ก็ถือว่าเก่งแล้ว ซึ่งการลงทุนแบบเดิมนี้เรามักเรียกกันว่า relative return คือผลงานเทียบกับดัชนีของตลาด

       ยิ่งในโลกปัจจุบันที่ข่าวสารข้อมูลรวดเร็ว ทุนข้ามชาติสามารถเคลื่อนย้ายได้เกือบเสรี ตลาดก็ยิ่งมีความผันผวนมากขึ้นและเกิดได้บ่อยขึ้น สำนักงานคณะกรรมการ กลต. ท่านก็อยากพัฒนาศักยภาพของตลาดทุนและผู้จัดการกองทุนไทย จึงได้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ให้สามารถใช้ตราสารอนุพันธุ์ (Derivatives) มาป้องกันความเสี่ยงได้มากขึ้น จึงเกิดกองทุนแบบใหม่ที่เราเรียกกันว่า Absolute Return ที่เริ่มได้รับความนิยมจากนักลงทุนที่ไม่ชอบความผันผวนมากๆ

       “การลงทุนแบบ Absolute Return นี้เป็นการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และมีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวม และสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้แม้ในสภาวะตลาดขาลง หรือสภาวะตลาดทรงตัว โดยใช้กลยุทธ์การคัดเลือกหุ้นตัวที่มีพื้นฐานดี มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่สูง และมีระดับราคาที่ยอมรับได้ ทั้งยังใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของตลาดให้คงเหลือเพียงผลตอบแทนที่เกิดจากหุ้นนั้นๆ โดยการขายหรือ Short Index Future”

       อธิบายให้ละเอียดขึ้นไปอีก เช่น ผู้จัดการกองทุนเลือกลงทุนหุ้น 20-25 ตัวที่มีพื้นฐานดี ราคายอมรับได้ มูลค่ารวม 100 ล้านบาท และในขณะเดียวกันก็ไปขาย Index Future มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทเช่นกัน ถ้าตลาดหุ้นตกไป -5% แต่พอร์ตหุ้นที่เราเลือกไว้ลง -3% index future ที่เราขายไว้จะได้กำไรตรงข้ามกับตลาดที่ตกคือ +5% ทำให้ได้กำไรสุทธิ +2% พูดง่ายๆ คือผลตอบแทนที่ได้นั้นเป็นการวัดฝีมือการเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับจังหวะตลาดว่าจะขึ้นหรือจะลง

       การลงทุนในรูปแบบ Absolute Return นี้ก็ยังคงมีความเสี่ยงในการลงทุนอยู่บ้าง หากราคาหุ้นในพอร์ตที่เราลงทุนลดลงมากกว่าตลาดในยามที่ตลาดลง หรือขึ้นน้อยกว่าตลาด และในยามที่ตลาดขึ้นก็อาจทำให้ผลตอบแทนของกองติดลบได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือการเลือกหุ้นว่าสามารถเอาชนะดัชนีตลาดได้หรือไม่ แต่ถึงอย่างไรการลงทุนประเภทนี้ก็ยังคงน่าสนใจและเหมาะสมในช่วงตลาดที่มีความผันผวนอยู่ ในปัจจุบันเริ่มมีบาง บลจ.ที่นำเสนอกองทุนประเภทนี้ให้เลือกลงทุน

       ซึ่ง บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้นำเสนอ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ สมาร์ท เทรด 555 ฟันด์ เอ (SCBST555A) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนเมื่อเดือน ก.พ.59 ที่ผ่านมา โดยมีผลการดำเนินงานนับจากจัดตั้งกองทุน ณ วันที่ 24 ก.พ.59 จนถึง 29 ก.ค.59 อยู่ที่ 7.37% และมีความผันผวนของผลตอบแทนเพียงแค่ 4.68% ต่อปี ในขณะที่ SET Index มีความผันผวนสูงถึง 11.38% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน (ที่มา : บลจ.ไทยพาณิชย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ จึงได้นำเสนอกองทุนลักษณะเดียวกันในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนอีกครั้ง

       การลงทุนในรูปแบบ Absolute Return จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้บ้าง และไม่ชอบความผันผวนมากๆ แต่ก็ต้องการผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากหรือตราสารหนี้ระยะสั้น อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ของตนเองเป็นหลักด้วยนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด