SCBAM Market Insight : Report on April 27 – May 1, 2020

24 April 2020

“ปธน. Trump ประกาศแผนการเปิดประเทศ 3 เฟส โดยจะเริ่มเร็วสุดในวันที่ 1 พ.ค. นี้”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังคงฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการเงินและการคลังอย่างเต็มกำลัง หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ทำให้บางประเทศเริ่มมีแผนการที่จะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง อย่างไรก็ตามคาดว่าความเสี่ยงจากผลกระทบของไวรัส COVID-19 ยังมีค่อนข้างมาก เนื่องจากการเปิดประเทศทั่วโลกเป็นการเปิดแบบระมัดระวังและรอดูสถานการณ์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวและฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ

ปธน. Trump ประกาศแผนการเปิดประเทศ โดยจะแบ่งเป็น 3 เฟสๆ ละ 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการปรับลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งคาดรัฐส่วนใหญ่จะเริ่มเปิดเร็วสุดในวันที่ 1 พ.ค. โดยมีรายระเอียด ดังนี้ 1) เฟส 1: ยังคงแนะนำให้ Work-from-home แต่ธุรกิจต่างๆ สามารถกลับมาเปิดทำการได้ เช่น ร้านอาหาร (นั่งทานที่ร้าน) การแข่งขันกีฬา โรงหนัง และโบสถ์ ภายใต้การรักษาระยะห่างอย่างเข้มงวด 2) เฟส 2: โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก และบาร์ สามารถเปิดทำการได้ 3) เฟส 3: พ้นจากการกักกันตัว และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ภายใต้การรักษาระยะห่างที่ยังคงมีอยู่ อีกทั้งสามารถเข้าเยี่ยมผู้ป่วยและคนชราได้

จำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการครั้งแรกในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 4.43 ล้านราย ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานสะสมอยู่ที่ 26.5 ล้านรายในช่วง 5 สัปดาห์ โดยจำนวนผู้ว่างงานสะสมดังกล่าวเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ Great Depression ในปี 1929 ทำให้อัตราการว่างงาน (Unemployment rate) ในเดือน เม.ย. คาดว่าจะพุ่งขึ้นแรงเป็นเลขสองหลัก ใกล้เคียงหรืออาจรุนแรงกว่าวิกฤตปี 2009 ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 10%

วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 4.84 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและโรงพยาบาล โดยที่ผ่านมารัฐบาลสหรัญฯ ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว 3 ก้อน มูลค่ารวมกว่า 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 11% ของ GDP ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ECB ระบุจะยอมรับพันธบัตรที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (Junk-rated Bond) เป็นการชั่วคราว จนถึงเดือน ก.ย. ปีหน้า เพื่อช่วยเหลือประเทศอ่อนแอ เช่น อิตาลี ซึ่งคาดว่าจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงท่ามกลางการระบาดของ COVID-19

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (LPR) ระยะ 1 ปีของจีน ปรับลดลง 20bps เป็น 3.85% เป็นผลมาจาก PBoC ปรับลดดอกเบี้ย MLF ลง 20bps เป็น 2.95% ในวันที่ 15 เม.ย. และการทยอยปรับลด RRR สำหรับ small-medium banks ก่อนหน้านี้

ดัชนี PMI เบื้องต้นเดือน เม.ย. ของประเทศหลักปรับตัวลดลงแรงต่อเนื่อง ทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากผลกระทบของการใช้มาตรการคุมเข้มต่างๆ  เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง นำโดยดัชนีรวม (Composite PMI) สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง -13.5 จุด เป็น 27.4 จุด ดัชนีรวม (Composite PMI) ยูโรโซน ปรับตัวลดลง -16.2 จุด เป็น 13.5 ดัชนีรวม (Composite PMI) ญี่ปุ่น ปรับตัวลดลง -8.4 จุด เป็น 27.8 จุด

กลยุทธ์การลงทุน

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นเกาหลี (SCBKEQTG)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (SCBNK225)