SCBAM Market Insight : Report on Sep 23-27, 2019 (Update)

23 September 2019

จับตาความคืบหน้าเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีความผันผวน โดยมีปัจจัยความเสี่ยงจากสงครามการค้า ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งมีนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น นำโดย Fed ECB และ PBoC นอกจากนั้นความเสี่ยงสงครามทางการค้ามีแนวโน้มลดลง หลังจากนาย Robert Lighthizer (ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ) กับ นาย Liu He (รองนายกรัฐมนตรีจีน) ตกลงว่าจะพบปะกันเพื่อเจรจาทางการค้าที่กรุงวอชิงตันในช่วงต้นเดือนต.ค. นี้ 

Fed ปรับลดดอกเบี้ยลง 25bps เป็น 1.75-2.00% ตามตลาดคาด ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอลง และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดย Dot plot ชี้ว่า Fed อาจคงดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันไปจนถึงปลายปี 2020 อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนยังไม่คลี่คลาย Fed อาจใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายอีกครั้ง โดย Fed จะลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้เพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจ

จีนดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยปรับลดอัตราส่วนเงินกันสำรองขั้นต่ำสำหรับธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 50bps ในวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อหนุนเศรษฐกิจ ซึ่ง PBoC ประเมินว่าการปรับลด RRR ลงในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบรวมราว 9 แสนล้านหยวน

ตลาดคาด ECB จะไม่ลดดอกเบี้ยอีกในปีนี้ หลัง ECB ประกาศใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน โดยลด Deposit Rate ลงมาที่ -0.50% ทำให้ Yield ยุโรปเริ่มปรับลดลงมาใกล้ดอกเบี้ยนโยบาย สะท้อนภาพเงินบางส่วนเริ่มไหลกลับสู่ระบบ

Brexit Deadline อาจถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง หลังสภาอังกฤษมีมติอนุมัติข้อกฎหมายระงับการเกิดเหตุการณ์ No-deal Brexit โดยบังคับให้รัฐบาลอังกฤษตกลงกับ EU เพื่อขอเลื่อนการใช้มาตรา 50 ออกไป หากสภาอังกฤษยังไม่สามารถหาบทสรุปข้อตกลง Brexit ได้ภายในวันที่ 19 ต.ค. จากความเสี่ยงเรื่อง Brexit ที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลให้ BoE คงนโยบายการเงินตามที่ตลาดคาด

ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นกว่า 10% หลังแหล่งผลิตน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย 2 แห่งถูกโจมตี ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันโลกหายไป 5% หรือหายไปจากระบบกว่า 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวันอย่างไรก็ตามสหรัฐฯ และรัสเซีย ออกมาประกาศว่ายังคงมีน้ำมันเพียงพอที่จะชดเชยส่วนที่หายไปได้ จึงทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอีกครั้งในวันถัดมา

แนะนำลดน้ำหลักการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น หลังจากราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 7% และภาคการบริโภค รวมถึงภาคการใช้จ่ายอยู่ในระดับต่ำ โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และรัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 8% เป็น 10% ในเดือนต.ค.นี้

แนะนำลดน้ำหลักการลงทุนในทองคำ เนื่องจากความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศและความตึงเครียดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีท่าทีผ่อนคลายลง

จับตาการประชุม กนง. ในวันที่ 25 ก.ย. โดยคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่อัตรา 1.5% เท่าเดิม แต่อาจส่งสัญญาณพร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตหากเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น

กลยุทธ์การลงทุน :

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นจีน THB เฮ็ดจ์ (SCBCEH)

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (SCBEUEQ)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้ (SCBGIF)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (SCBNK225)