SCBAM Market Insight : Report on July 6-10, 2020

6 July 2020

“เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากตัวเลข PMI ทุกประเทศหลักกลับมาฟื้นตัว”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลข PMI ทุกประเทศหลักกลับมาฟื้นตัว นำโดย 1) ดัชนีสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้น +9.5 จุด เป็น 52.6 จุด ด้วยแรงหนุนจากผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อทั้งภายในและภายนอกประเทศ 2) ดัชนียูโรโซนฟื้นตัวขึ้น +8.0 จุด เป็น 47.4 จุด สูงสุดในรอบ 4 เดือน (แต่ยังต่ำกว่า 50 จุด) จากการปรับตัวขึ้นของการผลิตสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ 3) ดัชนี Caixin ของจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้น +0.5 จุด เป็น 51.2 จุด สูงสุดในรอบ 6 เดือน และสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวลดลงเป็น 50.5 จุด จากแรงหนุนทั้งอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ 4) ดัชนีญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น +1.7 จุด เป็น 40.1 จุด เนื่องจากได้รับอานิสงค์จากการยกเลิกภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวต่อจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง จากความเสี่ยงเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในสหรัฐฯ และจีนที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งเป็นระลอกสอง (2nd Wave) และความเสี่ยงจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนกลับมาอีกครั้ง

ตลาดแรงงานในเดือน มิ.ย. ของสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง และดีกว่าที่ตลาดคาด โดยการจ้างงานในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.8 ล้านราย ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดธุรกกิจหลัก โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มากที่สุด เช่น ภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านราย และภาคการค้าปลีกมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 7.4 แสนราย ขณะที่อัตราการว่างงานปรับลดลงเป็น 11.1% เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown อย่างไรก็ดี การระบาดระลอกสองของ COVID-19 ทำให้การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง

การใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Spending) ในเดือน พ.ค. ของสหรัฐฯ พลิกกลับมาขยายตัวที่ 8.2% MoM จากที่หดตัว -12.6% ในเดือนก่อน ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 60 ปี หลังรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ส่งผลให้กิจการต่างๆ เช่น ร้านอาหารและห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดทำการ อย่างไรก็ตามการระบาดรอบสองของ COVID-19 และการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงคาดจะกดดันการฟื้นตัวต่อจากนี้

กลุ่ม OPEC+ เพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามข้อตกลงลดการผลิต เนื่องจากมีสมาชิก OPEC ที่ผลิตเกินโควต้าอยู่ถึง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยอิรักและไนจีเรีย ขณะที่ซาอุฯ ผลิตต่ำกว่าโควต้าเพื่อชดเชยให้ทั้งกลุ่ม อย่างไรก็ตามการผลิตโดยรวมยังเกินข้อตกลงลดการผลิตถึง 2 แสนบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ประชุมคณะกรรมการควบคุมการผลิต (Joint Ministerial Monitoring Committee: JMMC) จึงลงมติให้สมาชิกเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามข้อตกลงลดการผลิตที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และกำหนดให้สมาชิกที่มีการผลิตเกินจะต้องกลับมาผลิตให้ต่ำกว่าโควต้าเพื่อชดเชยส่วนเกินในช่วงที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป ซึ่งการเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามข้อตกลงลดการผลิตของกลุ่ม OPEC+ นับเป็นปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมันในระยะสั้น

จับตาการประชุม ECB ในวันที่ 16 ก.ค. คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ -0.5% และจะยังไม่ออกมาตรการผ่อนคลายอื่นๆ เพิ่มเติม

จับตาการประชุม European Council ในวันที่ 17 - 18 ก.ค. ซึ่งผู้นำทั้ง 27 ประเทศจะพิจารณากองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร

จับตาการประชุุม BoJ ในวันที่ 21 - 22 ก.ค. คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% และจะยังไม่ประกาศมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม

กลยุทธ์การลงทุน

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ (SCBEMBOND)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้ (SCBGIF)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล สตราทีจิก อินเวสเมนท์ (SCBGSIF)