“IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วขึ้นเป็น 5.6% จากเดิม 5.1%”
ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ค่อนข้างผันผวนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดโดยรวมยังคงขึ้นอยู่กับการระบาด COVID-19 ที่กลับมาเร่งตัวขึ้นทั่วโลก ซึ่งความคืบหน้าของวัคซีนจะยังคงเป็นปัจจัยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยล่าสุดประเทศพัฒนาแล้วฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึง 56.66% และ 48.12% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ
IMF คงประมาณการเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้ไว้ที่ 6.0% และปรับเพิ่มประมาณการปีหน้าขึ้นเป็น 4.9% แม้ IMF คงประมาณการเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้ไว้ที่ 6.0% แต่มีการปรับเปลี่ยนประมาณการรายภูมิภาค โดยปรับเพิ่มคาดการณ์กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วขึ้นเป็น 5.6% จากเดิม 5.1% โดยมีการปรับเพิ่มคาดการณ์สหรัฐฯ ขึ้นเป็น 7.0% จากเดิม 6.4% และปรับเพิ่มคาดการณ์ยุโรปขึ้นเป็น 4.6% จากเดิม 4.4% ขณะที่ปรับลดคาดการณ์กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เป็น 6.3% จากเดิม 6.7% สะท้อนถึงความแตกต่างในเรื่องการแจกจ่ายวัคซีน และความแตกต่างของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
Fed คงนโยบายการเงินเดิมตามคาด และเริ่มส่งสัญญาณถึงการปรับลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE taper) ในระยะอันใกล้ โดย Fed เล็งเห็นถึง พัฒนาการทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2020 ที่เริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีน จึงมีแนวโน้มที่ Fed อาจส่งสัญญาณ QE taper เบื้องต้นในการประชุม Jackson Hole Symposium ในวันที่ 26 - 28 ส.ค.
GDP ไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ ขยายตัว 6.5% QoQ,saar ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 8.4% โดยเศรษฐกิจได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่อนุมัติในเดือน มี.ค. รวมถึงนโยบายการเงินผ่อนคลายของ Fed และการแจกจ่ายวัคซีนที่รวดเร็ว อย่างไรก็ดี ปัญหาขาดแคลนด้านอุปทานที่กระทบการผลิตและไม่เพียงพอที่จะตอบสนองอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงสุดในรอบหลายสิบปี
ดัชนี Composite PMI เบื้องต้นเดือน ก.ค. ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักยังคงขยายตัวเหนือ 50 จุด นำโดยดัชนีสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง -4.0 จุด เป็น 59.7 และยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้น +1.1 จุด เป็น 60.6 จุด สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ในระยะหลังพบว่าการฟื้นตัวมีการชะลอตัวลง เนื่องจากฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
ราคาหุ้นจีนปรับลดลงแรงกว่า -5% เนื่องจากกฎหมายการควบคุมธุรกิจต่างๆ โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัท Tencent, Alibaba และ Meituan ต่างถูกปรับจากกฎหมายควบคุมการผูกขาด และล่าสุดรัฐบาลจีนกำลังพิจารณาให้สถาบันกวดวิชาเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม
กลยุทธ์การลงทุน
“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500)
“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยุโรป แอคทีฟ SCBEUROPE(A)
“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (SCBNK225D
“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (SCBEUEQ)