SCBAM Market Insight : Report on Aug 2-9, 2019 (Update)

2 August 2019

ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีการค้ากับจีนเพิ่มเติม

สหรัฐฯ ประกาศเตรียมขึ้นภาษีทางการค้ากับจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 1 ก.ย. นี้ ที่อัตราภาษี 10% โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ถูกเก็บภาษีเพิ่มเติม คือ สินค้ากลุ่มบริโภค (Consumer Goods) เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ของเล่น และเสื้อผ้า ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงต้องเพิ่งพาการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจาก สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าประเภทนี้จากจีนมากกว่า 50% อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลง แม้ว่าผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 30-31 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติ 8-2 ที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal funds rate) ลงมา 25 bps อยู่ที่ระดับ  2.00-2.25% อย่างไรก็ตามถ้อยแถลงการณ์ของนาย Jerome Powell มีท่าทีที่ Hawkish มากขึ้น ซึ่งกล่าวไว้ว่า “การลดดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นเพียงการลดเพื่อจำกัดความเสี่ยงเท่านั้น ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการกลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงิน” ซึ่งต่างจากที่ตลาดคาด

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจทั่วโลกในเดือน ก.ค. ออกมาต่ำกว่าคาด โดย Global Manufacturing PMI ปรับตัวลดลง -0.1 จุด เป็น 49.3 จุด ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์หดตัว จากท่ามกลางอุปสงค์โลกที่ชะลอและความไม่แน่นอนของสงครามการค้า นอกจากนี้สหรัฐฯ และยูโรโซนปรับลดลง -0.5 และ -1.1 จุด มาที่ระดับ 50.2 และ 46.5 จุด ตามลำดับ ซึ่งดัชนียูโรโซนอยู่ในระดับต่ำในรอบ 7 ปี ขณะที่ดัชนีของจีนและญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากการที่ยอดคำสั่งซื้อใหม่ในจีนและญี่ปุ่นฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังคงในเกณฑ์หดตัวเช่นกัน

ราคาน้ำดิบปรับลงแรงหลังปธน. Trump ประกาศตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจากจีนอีกครั้ง ซึ่งทำให้ตลาดกังวลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบที่คาดว่าจะชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ กับจีนที่อาจได้รับผลกระทบจากความเครียดทางการค้า ซึ่งอาจทำให้ภาวะอุปทานส่วนเกินกลับมาเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกครั้ง

จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 ส.ค. คาดว่าคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% แต่อาจมีการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวต่ำกว่าเป้าหมาย

จับตาการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ในวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งคาดว่าจะชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยการเติบโตเศรษฐกิจอาจได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ

จับตาการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ของไทย ในวันที่ 19 ส.ค. ซึ่งคาดว่าจะชะลอลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากภาวะอ่อนแอของอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศ

กลยุทธ์การลงทุน :

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้ (SCBGIF)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ บิลเลียนแนร์ (SCBBLN)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (SCBNK225)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ออล ไชน่าอิควิตี้ (SCBCHEQA)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ (SCBAEM)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500)