Worldwide Wealth by SCBAM : ลงทุนตราสารหนี้อย่างไร ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว

28 เมษายน 2564

         เมื่อปัจจัยบวกต่าง ๆ อาทิเช่น ความคืบหน้าของการฉีดวัดซีน และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตัวสนับสนุนให้ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากวิกฤติ COVID-19 มีความชัดเจนมากขึ้น และคาดการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจในการลงทุนและเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตราสารหนี้เข้าสู่สินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนดังกล่าวทำให้อัตราผลตอบแทน หรือ Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงต้นปี และเนื่องจากราคาตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงผกผันกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทน (กล่าวคือ ถ้าอัตราผลตอบแทนในตลาดปรับขึ้น ราคาตราสารหนี้มีแนวโน้มจะปรับตัวลง) ผลตอบแทนจากการถือครองตราสารหนี้ (เมื่อตีมูลค่าราคาตลาดแล้ว) จึงลดลงจากปลายปีที่แล้ว หรืออาจติดลบได้

         แม้ Bond Yield ที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลง แต่ตราสารหนี้แต่ละตัวก็มีความอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของ Bond Yield ไม่เท่ากัน เนื่องจากตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวกว่า จะมีความอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของ Bond Yield ในระดับที่สูงกว่า เช่น หาก Bond Yield ในตลาดปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ย 0.5% ราคาตราสารหนี้อายุ 10 ปีจะปรับตัวลงมากกว่าราคาของตราสารหนี้อายุ 2 ปี

         เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การลงทุนตราสารหนี้ที่เหมาะสมกับสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น คือการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อลดผลกระทบของการปรับตัวลงของราคาตราสาร และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ได้จากตราสารที่ครบกำหนดมาลงทุนใหม่ (Roll-over) ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และยังมีความเสี่ยงจากการปรับลดลงของราคาตลาดที่น้อยกว่าตราสารหนี้ระยะยาว

 

         อีกทางเลือกการลงทุนตราสารหนี้ที่เหมาะสมกับสภาวะเงินเฟ้อและ Bond Yield ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คือการลงทุนในตราสารหนี้ที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรือ Floating Rate Bond (FRB) ที่โดยทั่วไปจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว หรือ coupon reset ทุก ๆ 3 หรือ 6 เดือนโดยอ้างอิงตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ขณะนั้น

         อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน FRB นั้นมีข้อเสียอยู่บ้าง เช่น จำนวนตราสารในตลาดมีค่อนข้างน้อย และผลตอบแทนที่ไม่คงที่ ทำให้ผู้ลงทุนต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและต้องคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ส่งผลให้การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่จ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่เป็นที่นิยมมากกว่า เนื่องจากตราสารที่ครบบ่อย ทำให้ผู้ลงทุนได้ “Reset” อัตราดอกเบี้ยใหม่อยู่เสมอ คล้ายคลึงกับการลงทุนใน FRB ขณะที่ผลตอบแทนสามารถคาดเดาได้ง่ายกว่า

         นอกจากการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงแล้ว นักลงทุนสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น โดยมีข้อดีคือนักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เนื่องจากกองทุนมีการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ทั้งตราสารภาครัฐ เงินฝากธนาคารทั้งในและต่างประเทศ และหุ้นกู้เอกชนจากหลากหลายบริษัทที่ผ่านการคัดกรองมาเป็นอย่างดี

         นอกจากนี้ หากนักลงทุนสามารถรับความผันผวนได้บ้าง นักลงทุนอาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในตลาดตราสารหนี้ เพื่อให้ผลตอบแทนของกองทุนสูงกว่าดัชนีเทียบวัด ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลกองทุนให้ถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุน

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​