Worldwide Wealth by SCBAM : ทางออกของกับดักสภาพคล่อง

23 พฤษภาคม 2559

       หลังจากที่ผมเขียนเรื่องกับดักสภาพคล่องไป ก็มีเพื่อนๆ โทรมาถามกันหลายคนว่าจะทำอย่างไรดี ก่อนที่จะไปถึงทางแก้เราต้องเข้าใจกันก่อนว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

       กับดักสภาพคล่อง คือ การที่มีสภาพคล่องที่ล้นระบบแต่ไม่มีที่ไป ดอกเบี้ยถูกแต่คนก็ไม่กู้เพราะไม่รู้จะกู้ไปทำอะไร ขายของก็ขายไม่ได้อย่างที่คิด ทำให้กำลังการผลิตของโรงงานยังเหลือ ส่วนธนาคารก็ไม่กล้าปล่อยกู้เพราะคุณภาพของผู้กู้ลดต่ำลงมีโอกาสผิดนัดชำระกลายเป็นหนี้เสียได้

       ทำไมถึงขายของไม่ได้ ไม่มีคนซื้อ! เราต้องเข้าใจก่อนว่าคนส่วนใหญ่จะใช้จ่ายก็ต่อเมื่อรู้สึกถึงความมั่นคงของรายได้ปัจจุบันและรายได้ในอนาคต (income effect) หรือเมื่อรู้สึกว่ารวยขึ้น (wealth effect) ฉะนั้นหากจะกระตุ้นการใช้จ่ายก็ต้องทำทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกัน ในสภาวะปกติการเพิ่มสภาพคล่องจะทำให้มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น (asset price inflation) ทำให้คนรู้สึกรวยขึ้น อยากออกไปจับจ่ายใช้สอย แต่ในกับดักสภาพคล่องนั้น มาตรการนี้ใช้ไม่ค่อยได้ผล พอเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปคนกลับไปออมในรูปแแบการซื้อพันธบัตรแทน จึงต้องมาแก้ที่พื้นฐานคือทำให้คนมีความมั่นใจในรายได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต ด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประชากรและประเทศ

       ส่วนการที่ธนาคารกลัวหนี้เสียจนไม่กล้าปล่อยสินเชื่อนั้น ก็เป็นสิ่งที่สะสมมานานแต่อาการเพิ่งจะมาออกในรัฐบาลปัจจุบัน กล่าวคือ รัฐบาลก่อนหน้าที่กระตุ้นให้คนกู้หนี้ยืมสินเพื่อไปซื้อบ้านหลังแรก รถคันแรก จนภาพรวมประชาชนมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ถ้ากู้เพิ่มอีกก็จะเริ่มส่งเงินต้นและดอกเบี้ยไม่ไหว(เมื่อเทียบกับรายได้ที่มีอยู่เดิม) ทางแก้ก็กลับมาที่เรื่องเดิม คือ ต้องเพิ่มรายได้หรือความสามารถในการแข่งขันนั่นเอง

       ทีนี้เราจะเพิ่มรายได้และความสามารถในการแข่งขันของประเทศและคนในประเทศได้อย่างไรเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราจะสังเกตุเห็นว่าทำไมบริษัทใหญ่ๆ จึงไปตั้งศูนย์ปฎิบัติการที่สิงคโปร์ทั้งที่ค่าเช่า ค่าแรง ก็แพงกว่ารวมถึงตลาดและกำลังซื้อก็เล็กกว่าประเทศไทยอีกด้วย เมื่อหลายวันก่อนผมได้มีโอกาสฟังท่านนายกฯ กล่าวให้โอวาทที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ประทับใจในแนวทางการแก้ปัญหาของท่าน ซึ่งท่านบอกว่า “จะไปยากอะไรก็ให้ไปแก้ที่ต้นตอของปัญหา ส่วนไหนหรือปัจจัยที่เราได้คะแนนต่ำเรื่องความสามารถในการแข่งขันก็ให้ไปแก้ตรงนั้น”

       ผมก็เลยเข้าไปดูเว็บไซต์ของ World Economic Forum ที่จัดอันดับการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในภาพรวมนั้นประเทศไทยได้ 4.6 คะแนน อยู่อันดับที่ 32 จาก 140 ประเทศ ถ้าเทียบกับในภูมิภาคนี้สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 2 มาเลเซียอยู่อันดับที่ 18 อินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 37 และฟิลิปปินส์อยู่อันดับที่ 47 แต่พอพิจารณาดูในแต่ละปัจจัยที่กระทบผลคะแนนรวมจะพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ไทยได้คะแนนสูง ก็คือ การควบคุมเงินเฟ้อได้เหมาะสม ขนาดและกำลังซื้อของตลาดในประเทศ ภาคการส่งออก และประสิทธิภาพของตลาดเงินตลาดทุน แต่ปัจจัยที่ส่งผลให้ได้คะแนนต่ำก็คือ ความไม่ยืดหยุ่นของค่าจ้างและการซ้ำซ้อนในภาคแรงงาน ซึ่งน่าจะเกิดจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน รวมถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฏหมาย และการคอรัปชั่นในภาครัฐ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นผลให้ประเทศไทยถูกจัดอับดับที่ร้อยกว่าๆ

       พอเขียนมาถึงตรงนี้ผมว่าท่านผู้อ่านหลายคนอาจถอดใจ แต่ผมก็เชื่อมั่นว่าถ้าจะแก้ให้ได้ก็คงต้องเริ่มทำในยุครัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งถ้าเห็นว่าความไม่ยืดหยุ่นเรื่องค่าแรงเป็นต้นตอของปัญหาก็น่าจะยกเลิกประกาศนั้น หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็อาจต้องใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (ค่าเงินอ่อน) เป็นตัวช่วย ส่วนการบังคับใช้กฏหมายนั้นรัฐบาลก็ได้ริเริ่มแล้ว เห็นได้จากปฏิรูปองค์กรภาครัฐในขณะนี้ ส่วนการคอรัปชั่นนั้นเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกคงใช้เวลาในการแก้ไขนานพอสมควรในการสร้างความเชื่อมั่น ข้อเสนอแนะที่อาจช่วยเร่งรัดการแก้ปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะกระทบต่อการแข่งขันหลักๆ ของประเทศนอกเหนือจากปัจจัยเหล่านี้ คือ การพัฒนาด้านการลงทุน

       นอกจากนี้ซึ่งเราสามารถยกระดับการให้บริการสาธารณะด้านการลงทุน หรือจัดตั้งองค์กรใดๆ ที่จะเป็นศูนย์กลางในการพิจารณาในใบอนุญาติต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ที่ดิน การก่อสร้าง โรงงาน การค้า การบริการภาษี เพื่อช่วยในการประสานนงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ในที่นี้อาจเป็น BOI หรือตั้งศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพแห่งชาติขึ้นใหม่ก็ได้

       สำหรับการลงทุนในตลาดบ้านเรา นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมรับความเสี่ยงค่าเงิน ต้องป้องกันหรือล็อคล่วงหน้ากันเกือบเต็มจำนวน แต่สภาวะกับดักสภาพคล่องจะทำให้ผลตอบแทนต่ำลงจนไม่มีทางเลือก จนนักลงทุนต้องยอมเปิดรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงด้านอื่นๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น ดังนั้นนักลงทุนจึงควรกระจายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้นทั้งยังเป็นการช่วยให้ค่าเงินอ่อนลงด้วย หรืออาจร่วมลงทุนในสินทรัพย์ประเภท อสังหาริมทรัพย์/โครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงกองทุนอสังหาและโครงสร้างพื้นฐานในตลาดที่มีกระแสรายได้สม่ำเสมอสูงกว่าพันธบัตร ซึ่งการลงทุนประเภทนี้ยังคงมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

       จากที่เขียนมาทั้งหมด กับดักสภาพคล่องไม่ได้น่าวิตกกังวลอย่างที่คิด เพียงแค่เราควรหาทางออกและกำหนดทิศทางให้ถูกต้องเหมาะสม ประเทศก็จะสามารถผ่านไปได้ไม่ยากครับ

โดย สมิทธ์ พนมยงค์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด