Worldwide Wealth by SCBAM : ผลกระทบของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ 2559 ต่อธุรกิจจัดการกองทุนในระยะยาว

22 มีนาคม 2560

         หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ) ที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 ให้มีความทันสมัยและเข้ากับสภาวะตลาดในยุคปัจจุบันมากขึ้น โดยประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมานั้น ประเด็นหลักของการปรับปรุงพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ครั้งล่าสุดจะมุ่งเน้นไปที่ความเท่าเทียมกันของการได้รับข้อมูลของนักลงทุน หรือในทางกลับกันคือ พรบ.หลักทรัพย์ฯ ได้ขยายขอบเขตและบทลงโทษของการให้ข้อมูลกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อนที่จะประกาศให้ตลาดทราบโดยทั่วกัน อีกทั้งยังให้อำนาจในการเอาผิดกับกลุ่มนักปั่นหุ้นที่อาจลอยนวลในอดีตอีกด้วย

         ในช่วงแรกของการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับนี้ ทั้งฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง และสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างก็วิตกกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นว่า การให้ข้อมูลของฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ หรือการออกบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ใหม่นี้ได้ เพราะการขยายนิยามของคำว่าข้อมูลภายในและบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ในความเป็นจริงแล้วสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีความตั้งใจดีที่จะทำให้นักลงทุนรายเล็กได้รับข้อมูลเท่ากับสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ที่ในอดีตอาจได้เปรียบในการเข้าถึงข้อมูลก่อน 

         สำหรับธุรกิจกองทุนรวมก็เช่นกัน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับปรับปรุงใหม่นี้ก็จะมีผลกระทบในระยะยาวต่อการทำธุรกิจด้วย กล่าวคือ ธุรกิจการจัดการกองทุนแบบการคัดสรรหุ้น หรือที่มักเรียกกันว่า active fund ก็จะค่อยๆ สูญเสียความได้เปรียบไปเรื่อยๆ เพราะตลาดเข้าใกล้ความเป็นตลาดสมบูรณ์ หรือ efficient market มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกวิเคราะห์ไว้โดย Eugene Fama นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปี 2013 โดยศาสตราจารย์ ยูจีน ได้สรุปไว้ว่า ในตลาดที่มีประสิทธิภาพหรือ efficient market ในระยะยาว กองทุนประเภทซื้อทุกตัวตาม index (index tracker หรือ passive fund) และเน้นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน จะชนะการลงทุนแบบคัดสรรหุ้น หรือ active fund เพราะว่าในตลาดที่มีประสิทธิภาพนั้นไม่มีใครได้เปรียบด้านข้อมูลการลงทุน แต่ตัวค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการกองทุนจะเป็นตัวถ่วงทำให้กองทุนแบบคัดสรรหุ้น แพ้ดัชนีในระยะยาวได้ 

         กรณีนี้ก็มีตัวอย่างให้ศึกษาในตลาดที่พัฒนาแล้วหลายแห่ง เช่น ตลาดสหรัฐฯ ตลาดยุโรปและตลาดญี่ปุ่น ที่กองทุน index fund และ exchange traded fund สามารถเอาชนะกองทุนแบบคัดสรรหุ้นได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมจากนักลงทุนจนเติบโตแบบก้าวกระโดด จนมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้วในปัจจุบัน

         ผมเองก็ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อสามปีก่อนว่า ในตลาดเกิดใหม่ หรือ emerging markets อย่างเช่นประเทศไทย การลงทุนแบบคัดสรรหุ้น หรือ active fund ยังสามารถชนะตลาดได้ เพราะนักลงทุนสถาบันได้เปรียบในด้านการเข้าถึงข้อมูลและความเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น (asymmetric information) และในขณะนั้นจึงได้มีนโยบายการบริหารกองทุนให้มุ่งเน้นไปในการสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดจากการคัดสรรหุ้น ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควรในการสร้างชื่อเสียงให้กับ บลจ.ไทยพาณิชย์ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกองทุน SCB Selects Equity fund และ SCB Mid/Small Cap Equity Fund

         พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ใหม่นี้ ความได้เปรียบดังกล่าวจะค่อยๆ ทยอยลดลง กองทุนประเภทซื้อหุ้นทุกตัวตามดัชนี (passive index fund / exchange traded fund) ก็จะสามารถเอาชนะกองทุนที่เน้นการคัดสรรหุ้น และมีค่าธรรมเนียมการบริหารค่อนข้างสูงได้ในระยะยาว โดยที่จริงแล้วเราก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวในตลาดไทยมากขึ้นในช่วงปีหลังๆ นี้ กล่าวคือ หากเราเอาดัชนี SET Total Return Index มาวางเทียบกับกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยก็จะพบว่ากองทุนหุ้นส่วนใหญ่นั้นแพ้ตลาด จะมีที่ชนะดัชนีอยู่ก็เป็นส่วนน้อย และก็ไม่ได้ชนะติดต่อกันทุกปี ต่อไปตลาดกองทุนของไทยก็คงคล้ายๆ กับตลาดต่างประเทศที่กองทุนประเภท ETF และ Index Fund ซึ่งจะได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ บริษัทจัดการกองทุนและผู้จัดการกองทุนในอนาคตคงต้องเน้นไปที่การสร้างผลตอบแทนจากการจัดสรรสินทรัพย์ (asset allocation) และเทคนิคการลดความผันผวนจากการกระจายสินทรัพย์เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอให้กับนักลงทุน ส่วนการสร้างผลตอบแทนผ่านการคัดสรรหุ้น หรือการลงทุนในหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว ก็จะถูกทยอยทดแทนด้วย ETF Index Fund ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในการลงทุนแทนครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด