Worldwide Wealth by SCBAM : ทำไมกองทุนต้อง mark-to-market กับการลงทุนในกองทุน vs สหกรณ์

15 ธันวาคม 2559

          ผู้จัดการกองทุนมักได้รับคำถามข้างต้นบ่อยๆ จากนักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ที่คุ้นเคยกับการฝากเงินและลงทุนถือหุ้นของสหกรณ์  นักลงทุนกลุ่มนี้จะคุ้นเคยกับการลงทุนกับสหกรณ์ซึ่งใช้มาตรฐานบัญชีแบบ accrual basis หรือเรียกกันว่า  เกณฑ์บัญชีแบบคงค้าง กล่าวคือ ไม่ต้องประเมินค่าสินทรัพย์ให้เป็นปัจจุบันทุกวัน แต่จะใช้ระบบการนับดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อยๆ เมื่อตราสารหรือสินทรัพย์นั้นใช้วิธีบันทึกบัญชีแบบคงค้างหรือราคาต้นทุนที่ซื้อมา (ไม่ต้องประเมินใหม่ทุกๆ วันเหมือนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน หรือ NAV) จึงดูเสมือนว่าการลงทุนนั้นคงมูลค่าและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามดอกเบี้ยไม่เคยมีวันติดลบ วิธีการบันทึกบัญชีแบบดังกล่าวมักจะถูกใจนักลงทุนที่ไม่ชอบเห็นการติดลบ 

          ฟังดูก็ดีนะครับ ใครๆ ก็ชอบให้การลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ติดลบ แล้วทำไมมาตรฐานบัญชีและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จึงให้กิจการที่ประกอบธุรกิจด้านการจัดการลงทุนเช่นธุรกิจกองทุนต้องทำการบันทึกบัญชีแบบ mark-to-market (เกณฑ์บัญชีแบบมูลค่ายุติธรรม หรือบันทึกตามราคาตลาด)  ซึ่งบ้างครั้งพอประเมินมูลค่าของสินทรัพย์นั้นๆ ก็อาจเกิดการติดลบหรือมูลค่าลดลงได้ ก็เพราะการบันทึกแบบคงค้าง หรือราคาต้นทุนตลาดมันไม่ยุติธรรมยังไงหล่ะครับ พูดอย่างนี้คงเริ่มงงกันบ้างแล้ว ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการบันทึกบัญชีแบบคงค้างมันไม่ยุติธรรมอย่างไร

          สมมติว่า สหกรณ์ระดมทุนจากสมาชิก 100 คนๆ ละ10 บาท และนำไปลงทุนในหุ้นบริษัทหนึ่งที่มูลค่าหุ้นละ 10 บาท เมื่อเวลาผ่านไปราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นเป็น 13 บาท และมีปันผล 2 บาท ถ้ามีสมาชิกเก่าลาออก และหากเรายังไม่ได้ประเมินมูลค่ายุติธรรม สมาชิกที่ลาออกจะได้เงินเพียง 12 บาท ซึ่งมาจากราคาทุนบวกกับเงินปันผล แทนที่จะได้ 15 บาทซึ่งเป็นราคายุติธรรมที่ควรจะได้รับ สมาชิกที่เหลืออยู่หรือสมาชิกที่เข้ามาใหม่ก็จะได้อานิสงค์นั้นไปแทน  ตัวอย่างนี้สามารถประยุกต์ใช้กับตราสารหนี้และสินทรัพย์อื่นๆ ได้ด้วย  นักลงทุนส่วนใหญ่นึกไม่ออกว่าตราสารหนี้มีมูลค่าลดลงได้อย่างไร ในเมื่อเวลาซื้อพันธบัตรมา ราคาพันธบัตรเท่าไหร่มันก็เท่านั้นไม่เหมือนหุ้นนะ คำพูดนี้ไม่ถูกนัก ตราสารหนี้นั้นหากวันที่เราลงทุนซื้อให้ดอกเบี้ย 3% แต่พอวันถัดมาหากดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ผู้ออกตราสารคนเดิมออกตราสารเหมือนเดิมแต่จ่ายดอกมากขึ้นเป็น 5% ตราสารที่เราซื้อไปก่อนหน้าที่ให้ดอกเบี้ยเพียง 3% ก็ไม่มีใครอยากได้ ทำให้มูลค่าลดลงได้เช่นกัน จึงควรต้องประเมินมูลค่ายุติธรรมด้วย จะได้ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบแม้ว่าจะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือเข้าออกกันทุกวัน

          ด้วยเหตุนี้  ทางมาตรฐานบัญชีและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จึงให้กิจการที่ประกอบธุรกิจด้านการจัดการลงทุนทำบัญชีแบบมูลค่ายุติธรรมแทนแบบคงค้าง แต่การทำบัญชีแบบมูลค่ายุติธรรมนั้นก็ต้องประเมินมูลค่าทุกวัน เดี๋ยวราคาขึ้นเดี๋ยวลง ทำให้ NAV ของกองทุนขึ้นลงตามไปด้วย เดี๋ยวบวกเดี๋ยวลบ ทำให้นักลงทุนที่ไม่ชอบเห็นมูลค่าติดลบหงุดหงิดไม่พอใจไปด้วย

          แม้ว่าในทางจิตวิทยาแล้ว นักลงทุนที่มีพื้นฐานมาจากการฝากเงิน หรือซื้อตราสารหนี้ หุ้นกู้ด้วยตนเอง ไม่เคยต้องประเมินมูลค่า รู้สึกว่าเงินไม่หายมีแต่เพิ่มขึ้นทุกวันไม่เคยต้องเห็นตัวเลขติดลบ  แต่ในความเป็นจริงแล้วแม้แต่เงินฝากเมื่อนำมาประเมินมูลค่ายุติธรรมก็ยังติดลบได้ ยกตัวอย่างเช่น เราฝากประจำ 3 ปี ได้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี พอเดือนถัดมาธนาคารออกแคมเปญใหม่ ฝากประจำ 3 ปี ได้ดอกสูงขึ้นเป็น 3% ต่อปี บัญชีเงินฝากเดิมของเราที่เพิ่งฝากไปที่ได้ดอกเบี้ยเพียง 2% ต่อปีก็ด้อยค่าลงทันที แม้ไม่มีใครมาประเมินมันให้ช้ำใจก็ตาม บัญชีนั้นก็ได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าแคมเปญใหม่ที่เพิ่งจะออกไปตลอดอายุจนครบกำหนด

          หวังว่าท่านคงจะพอเห็นภาพกันนะครับว่าตราสารหนี้นั้นเมื่อประเมินมูลค่ายุติธรรมทุกวัน ตามอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน ตลาดพันธบัตรก็สามารถมีมูลค่าขึ้นลงได้  แต่ทั้งนี้มาตรฐานนี้มีไว้เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับนักลงทุนเพราะกองทุนนั้นอาจมีการซื้อเข้าขายออกกันทุกวัน หากไม่ประเมินมูลค่ายุติธรรมแล้ว ก็จะมีคนได้เปรียบและเสียเปรียบด้วยเช่นกันครับ

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด