มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : ความสำเร็จและก้าวต่อไปของ Apple

5 กันยายน 2561

        Apple กลายเป็นบริษัทมหาชนแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 33 ล้านล้านบาท นำหน้า Tech Companies คู่แข่งอย่าง Amazon, Google และ Microsoft โดยกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในปัจจุบันและใหญ่กว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งประเทศที่มีขนาดราว 15 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 458 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือในภาวะที่ตลาดสมาร์ทโฟนของโลกกำลังหดตัวลง Apple ทำอย่างไรจึงสามารถประกาศผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์ใน Wall Street คาดการณ์ และกลายมาเป็น “One Trillion-dollar Company” ได้ในที่สุด

        International Data Center (IDC) เปิดเผยตัวเลขยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกว่ามีอัตราลดลง 2.1% จากปีก่อนหน้า หรือเท่ากับ 341 ล้านเครื่องในไตรมาสสองที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้สมาร์ทโฟนยาวนานขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการใช้โทรศัพท์รุ่น High-End สูงนั่นเอง และเมื่อเปรียบเทียบกับยอดขาย iPhone ในช่วงเวลาเดียวกันที่ขายได้ 41.3 ล้านเครื่อง คิดเป็นอัตราที่สูงขึ้น 0.7% หรือเรียกว่าดีกว่าอุตสาหกรรมเพียงเล็กน้อย แต่กลับมีราคาขายเฉลี่ยต่อเครื่องสูงถึง 724 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหรียญ เพิ่มขึ้นถึง 20% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 693 ดอลลาร์สหรัฐฯ พูดง่ายๆ ว่า Apple สามารถขายสินค้าได้ในจำนวนเท่าเดิมแต่สามารถตั้งราคาขายได้สูงขึ้นนั่นเอง ท่ามกลางตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่แข็งขันกันอย่างดุเดือดในด้านราคา โดยปัจจัยที่สำคัญก็คือการตอบรับที่ดีเยี่ยมของ iPhoneX และ Brand Loyalty ที่แข็งแกร่งของ Apple เอง ซึ่งเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า ผ่านการออกแบบที่เรียบง่ายทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ โดยผลสำรวจล่าสุดจาก Merrill Lynch พบว่าผู้ใช้ iPhone มีความต้องการอัพเกรดสมาร์ทโฟนเครื่องถัดไปเป็นยี่ห้อเดิมอีกครั้ง สูงถึง 69% เหนือกว่าคู่แข่งอย่าง Samsung (53%),  Huawei (53%) และ Xiomi (37%)

 

 

        โดยความแข็งแกร่งของแบรนด์ Apple แสดงให้เห็นหลังจากที่ Huawei ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีนเริ่มเข้ามาเจาะตลาดสมาร์ทโฟนในระดับ High-End มากขึ้น ด้วยราคาที่จับต้องได้ และได้ชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจาก Samsung ในไตรมาสสองที่ผ่านมา Huawei มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 11.0% เป็น 15.9% สวนทางกันกับทางฝั่งของ Samsung ที่ลดลงจาก 22.9% เหลือ 21% ในขณะที่ Apple ยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ที่ราว 12%  จากความต้องการสินค้าที่ยังคงสูงทั่วโลก อย่างไรก็ดี Apple พยายามลดการพึ่งพารายได้จากการขาย iPhone ลงและมุ่งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการให้บริการซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงให้มากขึ้น โดยมองว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของบริษัท

        ในไตรมาสที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 9,548 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 17% ของรายได้ทั้งหมด เพิ่มมากขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ได้แก่ รายได้จากแอปพลิเคชันใน Apple Store, บริการให้เช่าพื้นที่บน iCloud, ภาพยนตร์หรืออัลบั้มต่างๆ บน iTunes, Licensing และ Apple Music นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในกลุ่ม Accessories ที่มียอดขายราว 3,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอัตราการเติบโตอย่างโดดเด่นกว่า 37% เช่น Apple Watch ที่ บริษัทพยายามออกแบบแอปพลิเคชันออกมารองรับมากขึ้น เจาะกลุ่มลูกค้าสายสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์หูฟังไร้สายรุ่นล่าสุดอย่าง AirPods  โดยสินค้าในกลุ่ม Accessories นี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 7% ของยอดขายผลิตภัณฑ์ทั้งหมด         

        Apple ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2020 โดยตลาดคาดกันว่าอินเดียจะเป็นเป้าหมายต่อไปของบริษัท เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่ยังคงเป็นกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟน Low-End เป็นส่วนใหญ่และมีอัตราการเติบโตสูง นอกจากนั้นโลกยังจับตาสินค้าชนิดใหม่ๆ ของ Apple และคาดหวังที่จะได้เห็น Disruptive Technology อีกครั้ง เหมือนที่ Apple ได้เคยปฏิวัติวงการการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนตัว และได้เปลี่ยนโลกไปอย่างสิ้นเชิงหลังการเปิดตัว iPhone ในปี 2007 โดยสิ่งที่เราเริ่มเห็นการพัฒนาอย่างจริงจังล่าสุดจาก Apple ได้แก่ Augmented Reality (AR) เทคโนโลยีการแทนที่วัตถุในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย รูปภาพ วิดีโอ หรือวัตถุ 3 มิติ และแสดงผลผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงโลกของเรากับโลกดิจิตัลมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมี Self-driving AI (Apple Car) เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น "Mother of all AI Projects” หรือหนึ่งในเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์

        อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าวจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราและช่วยยกสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้เมื่อไรนั้นคงต้องคอยติดตามกันต่อไปครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด