มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : Master Pooled Fund ทางเลือกที่ตอบโจทย์การลงทุนเพื่อการเกษียณ

3 เมษายน 2560

          เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีหลายท่านไปอ่านพระราชกิจจานุเบกษา ประกาศยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท 13 แห่งที่ทางสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในฐานะนายทะเบียนได้ออกประกาศมา เห็นแล้วก็นำข้อความดังกล่าวไปโพสต์ถามในเว็ปไซด์ชื่อดัง ผู้เข้ามาอ่านหลายท่านก็พาลเข้าใจผิด ตกใจว่าบริษัทเหล่านั้นมีปัญหาถึงขั้นต้องยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้เข้ามาอ่านรายต่อไปต่างก็เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์กันว่าพนักงานอาจเดือดร้อนไม่ได้เงินที่ตนสมทบไว้แล้วจะเอาอะไรไปดูแลตนเองยามเกษียณ คราวนี้ไปกันใหญ่หล่ะครับ แต่อย่างไรก็ตามงานนี้ต้องขอชมเชยสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่เข้ามาตอบได้รวดเร็วทันท่วงที สร้างความกระจ่างชัดเจนและเข้าใจให้กับทุกฝ่าย

          เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า บริษัทเหล่านั้นที่เดิมมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นของตนเอง หรือที่เรียกว่า บริษัทเดียว (Single Fund) คือ บริษัทที่กำหนดให้พนักงานทั้งหมดลงทุนได้แต่เฉพาะกองทุนที่บริษัทตั้งขึ้นเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น ได้เปลี่ยนแผนการลงทุนจากเดิมมาเป็นแบบลงทุนกองทุนที่ร่วมกันหลายนายจ้างและมีหลากหลายนโยบายการลงทุน (Master Pooled Funds) ซึ่งพนักงานของบริษัทเหล่านั้นก็จะมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น คนหนุ่มสาวที่ยังไม่ต้องใช้เงินก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่ผันผวนมากกว่า คนใกล้เกษียณซึ่งต้องการความแน่นอนของเงินที่จะเก็บไว้ใช้ยามเกษียณก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้หรือกองทุนพันธบัตรที่เสี่ยงต่ำได้ หรือใครต้องการจะผสมสัดส่วนต่างๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

          การเปลี่ยนมาสู่กองทุนที่ร่วมกันหลายนายจ้าง หลากหลายนโยบายการลงทุนนั้นกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่บริษัท ที่พยายามคัดสรรสิ่งดีๆ มาให้พนักงานของตนตามความเหมาะสมและความต้องการของพนักงานแต่ละคน สำหรับในต่างประเทศนั้นการทำแบบนี้เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นปกติทั่วไปของอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปแล้ว เพราะว่าในต่างประเทศนั้นเขาเน้นย้ำเรื่องการศึกษาที่เกี่ยวกับการลงทุน การออมเพื่อวัยเกษียณ พนักงานหรือลูกจ้างจะต้องมีความรู้ว่าตนต้องมีเงินออมอย่างน้อยเท่าไหร่ในยามเกษียณเมื่อไม่มีเงินเดือนใช้ และเขาควรลงทุนอะไรในช่วงเวลาก่อนเกษียณนั้น

          “เรื่องนี้ผมขอแนะนำว่า การออมเพื่อการเกษียณนั้นมีอยู่ 2 สูตร โดยสูตรที่หนึ่ง คือ เราต้องมีเงินออมอย่างน้อย 30 เท่าของค่าใช้จ่ายรายปี หรือ 360 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น หากเราอยากมีเงินใช้เดือนละ 20,000 บาท เราก็ต้องมีเงินเก็บ ณ วันเกษียณอย่างน้อย 7.2 ล้านบาท” 

          อีกสูตรหนึ่งเราควรต้องมีเงินได้ต่อเดือนหลังเกษียณประมาณครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ฉะนั้นหากก่อนเกษียณเรามีรายได้เดือนละ 40,000 บาท เราก็ควรจะมีสินทรัพย์ที่สามารถจ่ายดอกผลให้เราได้เดือนละประมาณ 20,000 บาท หรือปีละ 240,000 บาท  โดยถ้าเราลงทุนแบบผสมตามข้างต้นแล้วได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3-4% ก็ต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 7.2 ล้านบาทเช่นกัน หรือหากใครอยากมีเงินใช้ต่อเดือนมากหน่อย เช่น เดือนละ 40,000 บาท หรือ 60,000 บาท  ก็สามารถใช้สูตรด้านบนเทียบบัญญัติไตรยางค์คูณไปตามสัดส่วน นั่นคือ ก็ต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 14.4 ล้านบาท และ 21.6 ล้านบาท ตามลำดับ

          ที่นี้อยากให้ท่านลองสำรวจตัวเองดูว่า วันนี้เราเก็บเงินและลงทุนให้มันงอกเงยไปถึงเป้าหมายของแต่ละท่านแล้วหรือยัง ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น พนักงานจบปริญญาตรีเริ่มทำงานอายุ 23 ปี รับเงินเดือน 15,000 บาท ทำงานถึงอายุ 60 ปี รวมเวลาทำงาน 37 ปี ได้เงินเดือนขึ้นทุกปีๆ ละ 5% มีเงินเดือนก่อนเกษียณจะอยู่ที่ 91,200 บาท ทั้งพนักงานและบริษัทนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝ่ายละ 5%เท่าๆ กัน รวมเป็นปีละ 10% ของรายได้ หากต้องการจะเก็บออมให้ได้ 7.3 ล้านบาท ในช่วงวัยเกษียณเขาต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาว 8% ต่อปี ซึ่งไม่ง่ายเลย

          แล้วเมื่อพอท่านสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหันกลับไปสำรวจแผนการลงทุนที่บริษัทท่านมี ท่านจะพบว่าแผนการลงทุนจากเดิมที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นของตนเองโดยเฉพาะบริษัทเดียว (Single Fund) นั้น ส่วนใหญ่มักเป็นกองทุนผสมที่เสี่ยงต่ำถึงเสี่ยงปานกลาง ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3-6% ต่อปี โอกาสที่ท่านจะมีเงินออมเพียงพอสำหรับวัยเกษียณนั้นแทบจะไม่มีเลย เราจึงเห็นว่ากระแสของธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นหันไปสู่กองทุนที่ร่วมกันหลายนายจ้างและมีหลากหลายนโยบายการลงทุน (employee choice และ master pooled funds) ทั้งยังให้อิสระในการเลือกลงทุน ซึ่งเป็นแผนที่มีความเสี่ยงสูงกว่า แต่พอมีโอกาสที่จะมีเงินออมเพียงพอในวันเกษียณ แล้ววันนี้ท่านเลือกลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของท่านอย่างไรครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด