Fund Finder ตอน Health Care เพราะเราแคร์สุขภาพ (พอร์ต) ของคุณ

26 กรกฎาคม 2565

          เรายังมีมุมมองค่อนข้างระมัดระวังต่อการลงทุน เพราะตลาดหุ้นถูก ปกคลุมด้วยปัจจัยลบ คือ เงินเฟ้อที่ยังคงพุ่งสูงต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก, นโยบายการเงินที่เร่งตึงตัวต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อจนนำไปสู่ความกังวลว่า เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทั้งในสหรัฐฯและยุโรป ดังนั้น ในเชิงกลยุทธ์ เราแนะนำการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม Global Health Care ที่คาดว่าจะสามารถทนทานต่อแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคได้ดีกว่าตลาดโดยรวม กองทุนแนะนำ คือ SCBGHC

          เราประเมินความน่าสนใจของการลงทุนกลุ่ม Health Care สามารถทนต่อแรงเสียดทานด้านภาวะเศรษฐกิจทั้งเงินเฟ้อสูง, วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น และความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนในระยะยาวของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ คือ (1) โครงสร้างประชากรโลก ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น หนุนความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น (2) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็ว รวมถึง ลดต้นทุน ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ อย่างไรก็ดี นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ มีปัจจัยที่ต้องติดตามคือ (1) นโยบายควบคุมราคายา ที่มีกระแสข่าวเป็นระยะ ๆ และ (2) ราคาหุ้นกลุ่มย่อยบางกลุ่ม อาจมีความผันผวนสูง เพราะ Sentiment การลงทุนถูกเชื่อมโยงไปกับหุ้นเทคโนโลยีหรือหุ้นเติบโตสูง

กองทุนแนะนำ คือ SCBGHC หรือกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นโกลบอลเฮลธ์แคร์ ลงทุนในกองทุนหลัก คือ Janus Global Life Sciences ที่เน้นลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Life Sciences เช่น การวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลตัวเอง การแพทย์หรือเภสัชกรรม รวมถึง บริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตหลักมาจากผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การจดสิทธิบัตร หรือความได้เปรียบทาง           การตลาดอื่น ๆ เราประเมินจุดเด่นของกองทุนนี้ คือ ความเชี่ยวชาญของทีมผู้จัดการกองทุนหลักและพอร์ตลงทุนมีการกระจายในกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่หลากหลาย

          ภาพรวมอุตสาหกรรม Health Care

          กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ดังนี้

          1) Pharmaceuticals คือกลุ่มบริษัทผู้วิจัยและพัฒนายา รวมถึงผลิตและจำหน่ายยา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่เรารู้จักกันดีเช่น Pfizer, AstraZeneca, J&J และ Roche เป็นต้น โดยกลุ่มบริษัทดังกล่าวดำเนินหลายธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมทั้งการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงการผลิตและจำหน่ายยาตามสิทธิบัตรยา (Patent) ของบริษัท ส่งผลให้บริษัทส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จะมีรายได้ค่อนข้างสม่ำเสมอและไม่ได้อิงตามวัฏจักรเศรษฐกิจมากนัก หรือเรียกได้ว่ามีลักษณะ Defensive 

          2) Health Care Services & Managed Healthcare คือกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการด้านการแพทย์, โรงพยาบาลและบริษัทประกันสุขภาพ หุ้นหลัก เช่น UnitedHealth, CIGNA เป็นต้น ส่วนใหญ่จะมีรายได้ค่อนข้างสม่ำเสมอและไม่ได้อิงตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ถือว่ามีลักษณะ Defensive เช่นเดียวกับกลุ่มแรก

          3) Health Care Equipment & Life Sciences Tools คือกลุ่มบริษัทผู้วิจัยและพัฒนา รวมถึงผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น Thermo Fisher, Danaher, ABBOTT และ Edward Life Science เป็นต้น โดยกลุ่มนี้จะมีผสมกันทั้งบริษัทที่มีการเติบโตสูง (Growth style) และบริษัทที่มีความทนทานต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ (Defensive style)

          4) Biotechnology คือกลุ่มบริษัทผู้วิจัยพัฒนาและคิดค้นยาใหม่ ๆ เช่น AMGEN, ABBIVE เป็นต้น กลุ่มนี้จะประกอบด้วยบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะเติบโตสูง (Growth style) โดยการเติบโตจะขึ้นอยู่กับผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ใหม่จะสามารถผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ได้หรือไม่ นอกจากนี้ ราคาหุ้นอาจผันผวนตามกระแสข่าวการถูกควบรวมจากบริษัทยาขนาดใหญ่ อีกนัยหนึ่ง ราคาหุ้นของหลายบริษัทในกลุ่มนี้ ถูกขับเคลื่อนจาก Binary Event (ผลิตภัณฑ์ถ้าไม่เกิดก็ดับ) นั่นทำให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างผันผวนสูงและคาดการณ์ได้ยาก

 

Fund Finder

          ปัจจัยสนับสนุนระยะยาว

          ​1) Structural demand growth ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนเชิงโครงสร้างประชากรทั่วโลกที่มีจำนวนผู้สูงอายุในสัดส่วนที่สูงและยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มสูงขึ้นจาก 39.2 ล้านคนเป็น 74.1 ล้านคนในปี 2030 (Fig.2) ซึ่งประชากรกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทุกกลุ่มประชากร (Fig.3)  นอกจากนี้ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีชนชั้นกลาง (Middle class) เพิ่มสูงขึ้น โดย Brookings Institution คาดว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจีนและอินเดียที่มีประชากร 1 ใน 3 ของโลก จะมีสัดส่วนชนชั้นกลางมากกว่า 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในปี 2030 (Fig.4&5) ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มคนดังกล่าวมีความพร้อมในการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์มากขึ้น  

          ​2) Disruptive Technology ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ช่วยให้การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ใหม่ ๆ ออกมาได้ดีและรวดเร็วมากขึ้น (Fig.7) นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนให้ต้นทุนของการวิจัยพัฒนา รวมถึง การให้บริการทางการแพทย์หลายอย่าง มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น กระบวนการตรวจพันธุกรรมของมนุษย์ เคยมีต้นทุนสูงกว่า 1 ล้านเหรียญฯ ในช่วงปี 2001 แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวถูกลงมาอย่างก้าวกระโดดจนมาต่ำกว่า 1 พันเหรียญฯ ในปี 2021 เป็นต้น (Fig.6)

Fund Finder

Fund Finder

          ปัจจัยสนับสนุนระยะสั้น-กลาง

          1) Resilience in High Inflation หุ้นกลุ่ม Global Health Care ถือว่ามีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูงและสม่ำเสมอ มีความผันผวนของกำไรน้อยกว่าอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรม (Fig.8) นับเป็นคุณสมบัติสำคัญที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ผู้บริโภคได้มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ (High Pricing Power) จากข้อมูลของ St. Louis Fed (FRED) แสดงถึงเงินเฟ้อของกลุ่ม Medical Care ปรับตัวสูงกว่าเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไปสหรัฐฯ มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 1982 โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Fig.9) ดังนั้น เราคาดว่ากลุ่ม Global Health Care จะสามารถทนทานต่อสภาพเงินเฟ้อสูงได้ดีกว่าตลาดโดยรวม

          2) Resilience in Tightening Cycles ในสภาวะปัจจุบันที่ธนาคารสหรัฐฯ ต้องดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังเร่งตัวสูงขึ้น หุ้นกลุ่ม Global Health Care ถือเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถทนทานได้ดีในสภาวะดังกล่าวและสามารถสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้ในช่วงสภาพคล่องทางการเงินตึงตัวในอดีตเช่นในปี 2015, 2018, 2020 ก่อนวิกฤติ Covid-19 และในปัจจุบัน 2022 (Fig.10)

          3) Resilience in Recession Risk หุ้นกลุ่ม Global Health Care ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นที่มีลักษณะ Defensive เนื่องจากมีแนวโน้มรายได้และกำไรที่ไม่อ่อนไหวต่อวัฏจักรเศรษฐกิจมากนัก หากเราพิจารณาจากอัตราการเติบโตกำไรของกลุ่มนี้จะพบว่ามีการเติบโตของกำไรค่อนข้างสม่ำเสมอกว่าดัชนีหุ้นโลกชัดเจนตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (Fig.11) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าหุ้นกลุ่ม Global Health Care จะสามารถสร้างผลตอบแทนดีกว่าดัชนีหุ้นโลกทั้งก่อนเกิดและระหว่างเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Fig.12)

Fund Finder

Fund Finder

          ปัจจัยเสี่ยง/ ปัจจัยที่ต้องติดตาม

          1) Drug price control นโยบายควบคุมราคายาเป็นประเด็นที่ค้างคามายาวนาน ตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ที่คุณฮิลลารี คลินตัน ชูเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง กดดันหุ้นกลุ่ม Health Care ในช่วงเวลานั้น (Fig.13) จนมาถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีความคืบหน้าในการออกกฎหมายมาควบคุมแต่อย่างใด ดังนั้น เราจึงมองว่าปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจเพิ่มสูงขึ้นบ้างโดยเฉพาะช่วงใกล้เลือกตั้ง หากบรรดาพรรคการเมืองนำกลับมาชูเป็นนโยบาย หาเสียงอีกครั้ง แต่ประเมินว่า โอกาสที่จะออกกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด เป็นไปได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะถ้าผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ช่วงปลายปีนี้ ออกมาแล้วทำให้พรรค เดโมแครต ไม่ได้ครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภาเหมือนเดิม ยิ่งทำให้การผ่านกฎหมายสำคัญต่าง ๆ ออกมาได้ลำบากมากขึ้น

          2) Some subsectors are sensitive to rate hike cycles เนื่องจากในมุมมองของนักลงทุนหุ้นกลุ่ม Biotechnology โดยรวมและหุ้นกลุ่ม Health Care Equipment & Life Sciences Tools บางส่วน ถูกมองว่า มีลักษณะเป็นหุ้นเติบโตสูง (Growth Stocks) ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีนี้มีแรงเทขายต่อหุ้นกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่ม Technology (Fig.14) ดังนั้น หุ้นกลุ่มดังกล่าวอาจมีความผันผวน จากแรงกดดันของการตึงตัวนโยบายการเงินของ Fed เพื่อคุมเงินเฟ้อ

Fund Finder

          กองทุนแนะนำ SCBGHC

          กองทุน SCBGHC (SCB Global Health Care Equity Fund) ลงทุนในกองทุนหลัก คือ Janus Global Life Sciences ที่เน้นลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Life Sciences เช่น การวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลตัวเอง การแพทย์หรือเภสัชกรรม รวมถึง บริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตหลักมาจากผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การจดสิทธิบัตร หรือความได้เปรียบทางการตลาดอื่น ๆ

          เราประเมินจุดเด่นของกองทุนนี้ ได้แก่

          1) การบริหารจัดการเชิงรุก การคัดสรรบริษัทที่น่าสนใจลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม Health Care นั้นถือ มีความสำคัญมาก เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง ด้านการแพทย์ ส่งผลให้ส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างบริษัทผู้ชนะและบริษัทผู้แพ้ในอุตสาหกรรมนี้ มีความห่างกันอย่างมาก (Fig.15)

          2) ทีมผู้จัดการกองทุน Janus Capital Management มีจุดแข็งเรื่องทีมงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน Health Care และมีประสบการณ์การลงทุนยาวนาน ปรัชญาการลงทุนที่เน้นคัดเลือกบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต แต่ซื้อขายในราคาต่ำกว่ามูลค่าแท้จริง มองกรอบการลงทุนที่ดีระยะยาว แต่ก็มีกระบวนการในการบริหารความเสี่ยงระหว่างทาง เช่น การพิจารณากรอบ Value at Risk เป็นต้น จากจุดเด่นดังกล่าวส่งผลให้ทีมงานสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีอ้างอิง MSCI World Health Care ในระยะยาว (Fig.17)

          3) การกระจายการลงทุนภายในกลุ่ม Health Care กองทุนหลัก (Master fund) คือ Janus Global Life Sciences Fund มีการกระจายลงทุนครบทั้ง 4 กลุ่มย่อยของอุตสาหกรรม Health Care ไม่กระจุกตัวใน Subsector ใดมากจนเกินไป (Fig.16) ทั้งนี้ มุมมองล่าสุดของทีมผู้จัดกองทุน พยายามสร้างสมดุลให้แก่พอร์ต ระหว่างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ มูลค่าของหุ้น และสภาพคล่อง จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา กองทุนมีลดน้ำหนักบางส่วนในกลุ่ม Biotech ที่มองว่ามีสภาพคล่องต่ำ และมุ่งเน้นไปยังธุรกิจที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง และมีโอกาสเติบโตของรายได้มากขึ้น

Fund Finder

          ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และขอรับหนังสือชี้ชวน ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 02-777-7777 กด 0 กด 6 www.scbam.com