คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : จับตาราคาน้ำมันครึ่งปีหลัง

29 กรกฎาคม 2563

        ราคาน้ำมันดิบไตรมาสแรกของปีได้รับผลกระทบรุนแรงจากอุปทานส่วนเกินที่ปรับขึ้นอย่างมาก การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศจีนและมีการแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดและลดการเดินทางทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวลงแรง และมีการประเมินว่าอุปสงค์น้ำมันดิบได้หดตัวรุนแรงที่สุดกว่า -16 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วง Lockdown  นอกจากอุปทานน้ำมันกลุ่มโอเปคที่เคยประกาศว่ามีความเป็นได้ที่อาจจะลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติมเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19  แต่แล้วกลับทำให้ตลาดผิดหวังอย่างมาก หลังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เกิดความล้มเหลวในการเจรจาตกลงควบคุมปริมาณการผลิต และนำมาสู่การประกาศสงครามราคาอย่างรุนแรงระหว่างประเทศผู้ผลิตอย่างซาอุฯ และรัสเซีย นำโดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย (SaudiAramco) ออกมาประกาศว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเม.ย. หลังจากที่ข้อตกลงร่วมควบคุมปริมาณการผลิตเดิมจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.2563  ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย ออกมากล่าวตอบโต้ว่ารัสเซียสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้อีก 5 แสนบาร์เรลต่อวันเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาด ส่งผลให้คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกอาจเพิ่มขึ้นรวม 3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเม.ย. ด้วยแรงกดดันทั้งการหดตัวอย่างรุนแรงของอุปสงค์น้ำมัน และการกลับมาของการแย่งส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ราคาน้ำมัน WTI ได้ปรับลดลงถึง -83% นับตั้งแต่ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ ต้นปี 2563 (ก่อนการแพร่ระบาดเชื้อ) จนถึง 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ กลางเดือนเม.ย. การปรับตัวลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมันดิบในระดับนี้ ทำให้เราย้อนกลับมาประเมินว่าราคาน้ำมันที่ล่าสุดได้มีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. นั้น มีปัจจัยพื้นฐานรองรับที่เพียงพอจะพยุงราคาให้ฟื้นตัวต่อเนื่องในครึ่งปีหลังหรือไม่

        รการกลับมาผลิตเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดครั้งนี้นับเป็นการเพิ่มขึ้นของอุปทานในตลาดน้ำมันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และอาจมีความคล้ายคลึงกับช่วงปี 2557-2558 ซึ่งซาอุดิอาระเบียได้ใช้กลยุทธ์แย่งส่วนแบ่งการตลาดมาจากสหรัฐฯ ซึ่งช่วงนั้นการผลิตน้ำมันถูกปรับเพิ่มเพียง 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลงแรงถึง -70% โดยปรับลดลงจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลนับตั้งแต่กลางปี 2014 มาสู่จุดต่ำสุดที่ 30  ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ ต้นปี 2559 ซึ่งในรอบนี้อุปสงค์การใช้น้ำมันได้หดตัวรุนแรงกว่ามากจึงส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2529 อย่างไรก็ดี ณ ระดับราคาที่ต่ำขนาดนั้นย่อมส่งผลให้แหล่งการผลิตหลายๆ ที่เกิดการขาดทุนรวมถึงประเทศรัสเซีย ส่งผลให้มีความพยายามเปิดการเจรจากันขึ้นระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยในวันที่ 13 เม.ย. กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค (OPEC+) รวมถึงซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย และสหรัฐฯ ได้ข้อสรุปร่วมกันลดปริมาณการผลิตที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นการลดที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกสามารถหาจุดต่ำสุดได้และทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยแผนการลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC+ จะเป็นแบบขั้นบันไดดังนี้

  • ลด 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ 1 พ.ค. - 30 มิ.ย. 2563 (2 เดือน) ต่อมาได้มีการขยายเวลาไปจนถึง 31 ก.ค. 2563
  • ลด 8.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ 1 ส.ค. - 31 ธ.ค. 2563 (6 เดือน)
  • ลด 6.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 - 30 เม.ย. 2565 (16 เดือน)

        จากข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบทยอยลดลงนับตั้งแต่พ.ค.ขณะที่อุปสงค์น้ำมันดิบเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังหลายๆประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการ Lockdown จากรายงานของ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) คาดว่าจุดต่ำสุดของความต้องการบริโภคน้ำมันดิบได้ผ่านพ้นไปแล้วในเดือนเม.ย. โดยหลังจากนี้คาดว่าราคาน้ำมันจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปีหลังการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ โดยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) คาดการณ์ปริมาณการบริโภคตลอดช่วงไตรมาสที่ 2 จะหดตัวราว 12.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวเหลือเพียง 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงคาดว่าตลาดน้ำมันดิบจะกลับเข้าสู่จุดสมดุลอีกครั้งในไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป นอกจากนั้นนับตั้งแต่ประธานาธิบดี ทรัมป์ รวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลกประกาศแผนการเปิดเศรษฐกิจก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง นำโดยตัวเลขการบริโภค Gasoline ในสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ค. รายงานจำนวนเที่ยวบินทั่วโลกจากที่เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 46,294 เที่ยวบินต่อวัน ณ กลางเดือนเม.ย. เป็น 112,283 เที่ยวบินต่อวัน โดยในปัจจุบันค่อยๆ มีการปรับฟื้นตัวกลับเข้าใกล้ตัวเลขที่ประมาณ 150,000 – 190,000 เที่ยวบินต่อวันก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 อีกทั้งแนวโน้ม Mobility Trends ซึ่งเป็นการเก็บสถิติผ่านการขอเส้นของผู้ใช้งาน Apple Maps ก็แสดงแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

        ในระยะถัดไปคาดว่าราคาน้ำมันยังมีโอกาสปรับขึ้นเนื่องจากนโยบายการลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC+ มีความต่อเนื่องยาวนานจนถึงปี 2565 การทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันจะส่งผลให้ตลาดน้ำมันมีโอกาสเข้าสู่ภาวะความต้องการสูงกว่าการผลิตได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นภาวะที่ราคาน้ำมันมักจะปรับตัวขึ้นเมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลในอดีต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาน้ำมันดิบ WTI ขณะนี้ปรับเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อาจจะมองได้ว่าเป็นการตอบรับข่าวดีจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจค่อนข้างเร็ว ทำให้หลายฝ่ายยังคงมีความกังวลเนื่องจากเป็นระดับราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันโดยตรง หรือ Cash Cost ของผู้ผลิต Shale oil ที่ระดับ 25-30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่ผู้ผลิต Shale oil กลับมาเพิ่มปริมาณการผลิตจากหลุมที่ถูกขุดไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว (Drilled but uncompleted wells: DUCs) อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันดิบยังคงทรงตัวต่ำกว่าราคา 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลซึ่งเป็นต้นทุนการสร้างแท่นใหม่ ก็จะทำให้มีโอกาสน้อยที่ผู้ผลิต Shale oil จะขุดเจาะหลุมใหม่ ซึ่งโดยปกติหลุมน้ำมัน Shale oil ในสหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันดิบได้สูงสุดในช่วง 4 เดือนแรก หลังจากนั้นปริมาณน้ำดิบที่ผลิตได้จะเริ่มลดลง และหากไม่มีการขุดหลุมใหม่มาชดเชยความเสี่ยงจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ จะยังคงไม่สูงมาก

        จากการประเมินสถานการณ์ในด้านปัจจัยพื้นฐานทั้งหลายเหล่านี้ จึงสามารถประเมินได้ว่าตลาดน้ำมันดิบจะยังคงสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลังต่อไป 

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด